ผลตรวจโควิด 19 โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์ จ.มุกดาหาร นักเรียน ครู บุคลากร ผลเป็นลบ ไม่ใช่ผลบวก “ตรีนุช” สั่งต้นสังกัดจับตาทุกพื้นที่ใกล้ชิด พร้อมกำชับสถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (5 พ.ย.) จากกรณีมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เข้าตรวจสอบนักเรียน ครู และบุคลากร โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ซึ่งผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ พบว่ามีครู บุคลากร และนักเรียน ประมาณ 80 คน มีผลเป็นบวก นั้น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้วพบว่า ครูและนักเรียนบางส่วน ที่ตรวจพบผลเป็นบวก จากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK เมื่อตรวจด้วยวิธี RT PCR ซ้ำอีกครั้ง ทางสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ได้แจ้งผลตรวจยืนยันของโรงเรียนดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 เวลา 04.00 น. ว่าตรวจแล้วผลเป็นลบ ผลยืนยันไม่พบเชื้อโควิด 19 ทุกราย ทั้งนี้นักเรียนกว่า 1,000 คน และนักเรียนที่พักรอที่โรงพยาบาลสนามทุกคนได้ทยอยกลับบ้านหมดแล้ว และให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน โดยในวันที่ 5-11 พ.ย.นี้โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
ตนได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด และส่วนกลาง หากเกิดเหตุไม่ว่าจะในพื้นที่จังหวัดใด ให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ ในการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาทันทีเพื่อให้ความมั่นใจผู้ปกครองและนักเรียน
“ขณะนี้ทุกโรงเรียนมีแผนเผชิญเหตุในระดับปฏิบัติที่เป็นระบบและมีการซักซ้อมเป็นอย่างดี เมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา ทางสาธารณสุขจะเข้าในพื้นที่ทันทีทั้งโรงเรียนและชุมชน โดยในส่วนของโรงเรียนก็จะหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องว่าควรจะหยุดเรียนหรือไม่ โดยยึดหลักการความปลอดภัยของนักเรียนควบคู่กับคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ขอกำชับให้ทุกสถานศึกษาปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อสงสัยว่าพบเชื้อโควิด 19 ทั้งฝ่ายปกครอง สาธารณสุข เอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ครู นักเรียน ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเป็นอย่างดี” นางสาวตรีนุช กล่าว
6 มาตรการหลัก (DMHT-RC)
1. เว้นระยะห่าง (Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร
2. สวมหน้ากาก (Mask wearing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา
3. ล้างมือ (Hand washing) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ นาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
4. คัดกรองวัดไข้ (Testing) วัดไข้ สังเกตอาการ ซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา
5. ลดการแออัด (Reducing) ลดแออัด ลดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มคนจำนวนมาก
6. ทำความสะอาด (Cleaning) ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วม อาทิ ที่จับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ฯลฯ
6 มาตรการเสริม (SSET-CQ)
1. ดูแลตนเอง (Self care) ดูแลใส่ใจ ปฏิบัติตน มีวินัย รับผิดชอบตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
2. ใช้ช้อนกลางส่วนตัว (Spoon) ใช้ช้อนกลางของตนเองทุกครั้ง เมื่อต้องกินอาหารร่วมกัน ลดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น
3. กินอาหารปรุงสุกใหม่ (Eating) กินอาหารปรุงสุกใหม่ร้อน ๆ กรณีอาหารเก็บเกิน 2 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึง ก่อนกินอีกครั้ง
4.ไทยชนะ (Thai chana) ลงทะเบียนตามที่รัฐกำหนดด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ หรือลงทะเบียนบันทึกการเข้า-ออกอย่างชัดเจน
5. สำรวจตรวจสอบ (Check) สำรวจบุคคล นักเรียน กลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง
6. กักกันตัวเอง (Quarantine) กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดโรค
7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา
1. ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus (TSC)+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID
2. จัดกิจกรรมรูปแบบ Small Bubble
3. จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ
4. ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาดคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ
5. จัด School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อม
6. ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ
7. จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมิน Thai Save Thai (TST) ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน



ใส่ความเห็น