(1 พฤศจิกายน 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 และการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
ตรวจเยี่ยม 2 โรงเรียน ดูความพร้อมเปิดเทอมวันแรก และการสอนออนไลน์
รมว.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2/2564 ณ โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมในทุกด้าน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ทั้งการจัดระบบคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน การเว้นระยะห่างในการเข้าแถว การจัดสถานที่ในโรงเรียน ห้องเรียน โรงอาหาร ให้มีพื้นที่ปลอดโปร่ง พร้อมจัดจุดล้างมือไว้บริการทั่วทั้งโรงเรียน ส่วนการบริหารจัดการเรื่องการเรียนการสอน ได้มีการสลับวันมาเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในโรงเรียนมากจนเกินไป
จากนั้น ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งในวันเปิดภาคเรียนนี้ ยังคงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์อยู่ แม้จะมีในส่วนของนักเรียนห้องเรียนกีฬา ที่เป็นนักเรียนพักประจำอยู่ในโรงเรียน ก็จัดให้มีแนวทางการปฏิบัติป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด
ย้ำมาตรการ 6-6-7 สวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือ-เว้นระยะห่าง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่าการเรียนที่ดีที่สุด คือ การมาเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเคยเป็นพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรง แต่ก็มีโรงเรียนมัธยมศึกษาที่สามารถเปิดเรียน On Site ได้ โดยนักเรียนโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ส่วนครูและบุคลากรในโรงเรียนได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 90% และถึงแม้จะมีนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็สามารถเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้
ศธ.พยายามเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน ซึ่งขณะนี้จำนวนนักเรียนที่มีความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยตลอด เชื่อว่าผู้ปกครองมีความมั่นใจในความปลอดภัย เพียงแต่ยังมีบางส่วนและเป็นส่วนน้อยที่อยู่ในช่วงของการตัดสินใจรับวัคซีน
ย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 ของ ศธ. (6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา) ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่สิ่งที่ต้องปฏิบัติตลอดคือการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ ซึ่งได้กำชับผู้บริหารสถานศึกษา และครูให้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเรื่องของแผนเผชิญเหตุที่ทาง ศธ.มีคู่มือให้ทุกโรงเรียนอยู่แล้ว
ผวจ.-สธ.จังหวัด ยืนยันความพร้อม และสนับสนุนแผนเผชิญเหตุ
ในกรณีพบนักเรียนหรือบุคลากรที่ติดเชื้อ จะต้องปฏิบัติตามคู่มือ โดยไม่ถึงกับต้องปิดทั้งโรงเรียน อาจจะปิดเฉพาะห้อง เพื่อทำความสะอาดตามระบบ ขอให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจว่าโรงเรียนมีแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครยืนยันว่า จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของกระบวนการเผชิญเหตุ ร่วมกับโรงเรียนและสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้เป็นการเปิดโรงเรียนภายใต้ความปลอดภัยมากที่สุด
ในส่วนของการเปิดเรียน On Site ศธ.ไม่ได้เร่งให้เปิดทุกโรงเรียน เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากโรงเรียนใดมีความพร้อมก็ทยอยเปิดเรียนได้ ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่พร้อมก็ให้เรียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ ศธ.กำหนดไว้ตามความเหมาะสม
โดยวันเปิดภาคเรียนวันแรก (1 พฤศจิกายน 2564) มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่พร้อมเปิดเรียน On Site แล้ว ประมาณ 12,000 โรงเรียน และจะมีการทยอยเปิดตามมาอีกเรื่อย ๆ ต่อไป ทั้งนี้ได้เน้นย้ำว่าการเปิดเทอมช่วงแรกขอให้ครูทำความเข้าใจกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีความสุขกับการมาโรงเรียนก่อน เป็นการปรับพฤติกรรม เนื่องจากเด็กอยู่บ้านมานาน เมื่อเด็กมีความพร้อมแล้วจึงจะให้วิชาความรู้ควบคู่ไป โดยเชื่อมั่นว่าเด็กจะสามารถติดตามทบทวนและเรียนทันแน่นอน
“ศธ.ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการทำงานร่วมกันมาตลอด ภายใต้การแพร่ระบาดโควิด 19 มากว่า 18 เดือนแล้ว คิดว่าวันนี้ความเข้าใจของสังคมไทยในเรื่องของการอยู่กับโควิด 19 มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูและนักเรียนด้วย ขณะเดียวกันขอให้เข้มงวดกับมาตรการ 6-6-7 เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตรูปแบบ New Normal มั่นใจว่าเมื่อเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดจะสามารถรับมือได้อย่างเต็มที่” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ปารัชญ์ ไชยเวช /สรุป
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ /ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น