การประชุมวิชาการพลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

รองนายกฯ ‘วิษณุ’ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญการปฏิรูปการศึกษา 8 ด้าน เน้น Active Learning โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นโค้ช ส่วนนักเรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม อภิปราย เรียนรู้เชิงรุก คิดเป็นกระบวนการชั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” ด้าน รมว.ศธ. ‘ตรีนุช’ ชูความพร้อมเดินหน้าเปลี่ยนครูและผู้เรียนเป็นนวัตกรทางการศึกษา เล็งพัฒนาโรงเรียนต้นแบบครบทุกจังหวัดในปี 2566

19 กันยายน 2565, หอประชุมคุรุสภา / ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ เข้าร่วมประชุมจำนวน 26 โรงเรียน มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูและนวัตกรรมนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 500 รายการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินงานครั้งนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ภายใต้หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ด้วยการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพรวมทั้งส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาชีพของผู้บริหาร ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร

โดยสามารถดำเนินการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบให้กับครูได้แล้ว 2 ภูมิภาคในปีนี้ และมีศักยภาพที่จะการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีงบประมาณ 2566 นำไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีความถนัดและความฉลาดที่แตกต่างกัน ผู้เรียนสามารถถักทอสร้างความรู้ได้เองจนถึงระดับหลักการ และเกิดสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทุกด้าน รวมทั้งนำหลักการต่าง ๆ ไปใช้เกิดผลลัพธ์ เช่น ชิ้นงาน โครงงาน นวัตกรรม จนส่งผลให้ผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรได้ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้

GPAS 5 Step
– GATHERING : การรวบรวมและเลือกข้อมูล
– PROCESSING : การจัดกระทำข้อมูล
– APPLYING : การประยุกต์ใช้ความรู้
A1 : Applying and Constructing the Knowledge) ขั้นปฏิบัติและสรุปความรู้หลังการปฏิบัติ
A2 : Applying the Communication Skill) ขั้นสื่อสารและนำเสนอ
– SELF – REGULATING : การกำกับตนเอง หรือ การเรียนรู้ได้เอง

ทักษะกระบวนการคิด GPAS จึงเป็นขั้นตอนและจุดเน้นในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง จากนั้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง ใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ สิ่งที่ได้จากกระบวนการเหล่านี้ จะตกผลึกภายในตัวของผู้เรียน จะกลายเป็นตัวตนเป็นบุคลิกภาพของผู้เรียน และสะท้อนออกมาในภาระงานหรือการปฏิบัติที่ครูมอบหมาย ผลก็คือ ผู้เรียนจะสามารถคิดวิเคราะห์ปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ รมว.ศธ. ได้ประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า การปรับเปลี่ยนครูและผู้เรียนเป็นนวัตกรทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ได้เช่นนี้ แสดงถึงความสำเร็จของโครงการ นับเป็นการพลิกโฉมประเทศด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติตามแนวคิด Thailand 4.0 ที่จะทำให้คนไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ สู่การขับเคลื่อนประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในที่สุด

ศธ.จึงมีความมุ่งมั่นที่จะใช้โครงการนี้ขยายการดำเนินงานตามแนวทางความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาให้กว้างขวาง เกิดผลอย่างแท้จริงต่อไป โดย สพฐ.ต้องเร่งพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประจำจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดภายในปีการศึกษา 2566 และตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสังคมของประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ระดับมาตรฐานสากล ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไป

ในการนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่และเกียรติบัตรให้กับครูและนักเรียนที่ร่วมประกวดนวัตกรรมดีเยี่ยม ดีเด่น ดีมาก ตามโครงการ และได้กล่าวมอบนโยบายสำคัญในด้านการศึกษาตอนหนึ่งว่า “หัวใจสำคัญของการจัดงานคือเรากำลังปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในลักษณะการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลาและอาศัยการสร้างความเชื่อมั่นให้คนที่อยู่ในกระบวนการเห็นตรงกันว่าควรปรับเปลี่ยน จึงเป็นเรื่องยากที่ต้องต่อสู้กับเสียงคัดค้าน ความเคยชินต่าง ๆ แต่ก็ต้องเดินหน้าทำต่อไปเพื่อผลสำเร็จที่รออยู่”

ซึ่งการปฏิรูปการศึกษานั้น รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่ 8 เรื่อง คือ ปฏิรูปโครงสร้างการศึกษา ปฏิรูปโรงเรียน ปฏิรูปครู ปฏิรูปนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปตำรา ปฏิรูปวิธีจัดการเรียนการสอน และปฏิรูประบบการประเมินผล โดยหากต้องเลือกเรื่องสำคัญที่สุดก็คือเรื่องวิธีจัดการเรียนการสอน ซึ่งสมัยก่อนเป็นแบบ Passive Learning ครูเป็นผู้นำให้เรียนแบบตั้งรับ แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนเป็น Active Learning ให้ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นโค้ช ส่วนนักเรียนจะมีบทบาทมากขึ้น มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม อภิปราย เรียนรู้เชิงรุก ส่งผลให้นักเรียนคิดเป็นกระบวนการชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และลงมือทำจนเกิดเป็นนวัตกรรมขึ้น รวมทั้งผลักดันการใช้ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2575ให้เป็นรูปธรรม

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ถ่ายภาพ

วีดิทัศน์งาน https://fb.watch/fDVB5UXQQC

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: