(2 มีนาคม 2565) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “เข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย” EdCompass : Empowered Education พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน “สภาการศึกษา OEC Knowledge (OECK)” ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ วังพญาไท
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางนโยบายการศึกษาโดยเน้นการปฏิรูปที่ตัวผู้เรียนศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่อง คือ
- โค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลข้อที่ 7 และเป็นทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนต้องเรียนรู้
- การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการการเรียนการสอนแบบสติ : STI (Science/Technology/ Innovation) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต
- การสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างพลเมืองวิทยาศาสตร์ (Citizen Science) เป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
- พัฒนาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง ให้จัดการเรียนการสอนแบบ Digital Farming โดยปูพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งอาจารย์ไปอบรมหลักสูตรการเป็น Digital Farming เพื่อยกระดับการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง รวมถึงการเปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่จะใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนให้ชุมชน ลดความยากจน สร้างชลกรดูแลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญประสบความสำเร็จ จะใช้กลไกของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นองค์กรนำในการพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมาย เนื่องจาก สกศ.เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทในการจัดทำแผนและนโยบายการศึกษาที่จะใช้เป็นกรอบหรือทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยมีฐานข้อมูลองค์ความรู้ และผลงานวิจัยด้านการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศ
การจัดงาน “เข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย” ในวันนี้ จึงเป็นเวทีที่มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับสภาการศึกษาสู่การเป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านการศึกษาระดับนานาชาติ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าในวันนี้งานวิจัย แผนการศึกษา ยุทธศาสตร์ กฎหมาย รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของสภาการศึกษา จะถูกหยิบยกและนำมาใช้ในการกำหนดเข็มทิศการศึกษาและพัฒนาประเทศไทย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงของหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้ง่ายขึ้นผ่านแอพพลิเคชัน OEC Knowledge (OECK) ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจของสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาเรื่อง “เปิดข้อเท็จจริงการศึกษาไทย ผ่านข้อมูลและผลงานวิจัยเพื่อกำหนดเข็มทิศการศึกษา” โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา, นางสาวกาญจนา วานิชกร รอง ผอ.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา และ รศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ ผู้ร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี Google Workspace for Education
ในภาคบ่ายมีกิจกรรมการเสวนาเรื่อง “กว่าทศวรรษกับ Big Data ด้านการศึกษาของประเทศไทย” โดย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และการเสวนาเรื่อง “Cyber Security รู้เท่าทันสื่อและภัยคุกคามจากสื่อโซเชียล” โดยนายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT), ผู้แทนบริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนบริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น