โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยด้วยการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จังหวัดเชียงราย
ดร.วันสว่าง สิงห์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย กล่าวว่า การดำเนินงานของโรงเรียน มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการเตรียมกำลังคนระดับสูงทางด้าน STEM เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนใน Eastern Economic Corridor (EEC) และโครงการอื่น ๆ ของประเทศ
สำหรับการเปิดเรียนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โรงเรียนได้ดำเนินการตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School คือ
- Safety Zone เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อ จัดในห้องเรียนและในหอพัก
- Quarantine Zone จัดเป็นพื้นที่คัดกรองสำหรับนักเรียนที่เสี่ยง เช่น ห้องพยาบาล หอพักนอน
- Screening Zone ตรวจเช็คคัดกรองบุคคลเข้าออก
รวมถึงจัดแต่ละโซนให้อยู่ในพื้นที่ของตนเอง ตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มข้น ครอบคลุมความปลอดภัยทั้งหมดทุกด้าน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ควรมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติทางด้าน STEAM Education ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกร ผ่าน A: Art of Life ที่เพิ่มเติมจาก STEM ซึ่งการบ่มเพาะนักเรียนผ่าน Art of Life จะช่วยให้นักเรียนเป็นผู้ที่มี Soft skills ต่าง ๆ ในการมุ่งใช้ความรู้เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ท้องถิ่นและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำโครงงานวิจัยของนักเรียนที่จะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นเครื่องมือกระตุ้นในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไว้คือ การเพิ่มเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ต้นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศให้เข้มข้น ไปพร้อมกับการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตพลเมืองที่ดีและเก่ง สามารถเอาชนะเครื่องได้ ต่อยอดผลงานให้ใช้ได้จริง พัฒนาความรู้ให้เป็นอาชีพโดยใช้ Coding และ STI ควบคู่กันไป
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ขอให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทุกแห่ง เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อผลักดันให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสเรียนวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการสัมมนาทางวิชาการด้านสะเต็มศึกษาในรูปแบบออนไลน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอตาโก้ ประเทศนิวซีแลนด์ (NEW ZEALAND STEM WEBINAR SERIES) เยี่ยมชมผลงานโครงงานนักเรียน จำนวน 4 โครงงาน และผลงานอนุสิทธิบัตรของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนห้องปฏิบัติการเคมี เนื้อหาไอโชเมอร์ของสารประกอบอินทรีย์ ห้องปฏิบัติการชีววิทยา เนื้อหาเนื้อเยื่อสัตว์ และห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ เนื้อหาพลังงานจลน์

ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย
ช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษา ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย
นางศิริพร ดาระสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีต ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย รายงานถึงสภาพปัญหาในปัจจุบันว่า เด็กพิการรุนแรง/ติดเตียงไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนและจบการศึกษาภาคบังคับได้ จึงเสนอให้เปิดโรงเรียนเฉพาะความพิการสำหรับเด็กพิการรุนแรง/ติดเตียง เป็นสถานศึกษาครบวงจร มีบริการด้านการศึกษา การแพทย์ การฝึกอาชีพสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนครูการศึกษาพิเศษโดยตรงในโรงเรียนรวม หากรัฐสามารถสนับสนุนให้มีครูการศึกษาพิเศษอย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน จะสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณครู บุคลากร ผู้บริหารทุกคน ที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจดูแลเด็กพิการด้วยหัวใจ รวมถึงโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ ที่ช่วยกันทำให้เด็กด้อยโอกาสกลายเป็นเด็กได้โอกาส พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการศึกษาไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ครูหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุรกันดาร ทำงานยากลำบากเป็นพิเศษ ควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ นอกจากนี้ ศธ.ยังได้ออกประกาศสถานที่ตั้ง “ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา” จำนวน 13 ศูนย์ และ “ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัด” จำนวน 64 ศูนย์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เกิดความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและให้บริการการศึกษาพิเศษ และหากสามารถสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติมได้ ศธ.ยินดีรับไว้พิจารณาต่อไป
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อมอบเครื่องใช้ประจำวัน และเป็นกำลังใจแก่นักเรียนและครอบครัว

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น