ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ, 18 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21” โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวต้อนรับ และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน
รมว.ศธ. กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาก เพราะมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้หลากหลายมิติ สิ่งสำคัญคือ เทคนิคของกระบวนการเรียนการสอน ที่จะทำให้เด็กสนใจในเนื้อหามากขึ้น รวมไปถึงวิธีการสื่อสารที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ให้คิดวิเคราะห์เป็น รู้สึกซึมซับกับคุณค่าตั้งแต่ที่มา ความเป็นอยู่ พื้นที่ วิถีชีวิต ท้องถิ่น วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมระดับภูมิภาค จึงเป็นโอกาสที่เด็กจะได้รู้ที่มาของตนเอง ประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์โลก
สำหรับรูปแบบการสอนในอดีต จะเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติให้เด็กท่องจำในแต่ละช่วงเวลาของไทย แต่ยุคนี้จะทำอย่างไรให้เด็กของเราสนใจมากยิ่งขึ้น โดยที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ยังคงเดิม แต่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่ากระบวนการสอนต่างออกไป อาจจะมีบอร์ดเกม หรือครูตั้งคำถามเด็กให้เกิดการคิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น ข้อสอบไม่เน้นท่องจำอย่างเดียว แต่จะเน้นให้เห็นว่าช่วงเวลาในเหตุการณ์ต่าง ๆ ผู้นำในยุคนั้น คนสมัยนั้น มีความคิดความเข้าใจอย่างไร ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กมีกระบวนการคิดเองผสมผสานกับความเป็นจริง สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับการทำงานหรือเรียนรู้ เป็นแนวทางหรือหลักการที่นำไปสู่อนาคตได้ดีขึ้น
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือของศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเชียงใต้ (ซีมีโอ สปาฟา) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ การหารือกับผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาเพื่อกำหนดรายละเอียดในเนื้อหา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการสอนให้กับครูสอนประวัติศาสตร์ ส่งเสริมให้ครูออกแบบกระบวนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน สร้างความเพลิดเพลินในการเรียน พร้อมแนะแนวสื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ให้นำไปประยุกต์ใช้ โดยคาดหวังว่าครูผู้สอนจะได้รับความรู้ด้านความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ทุกแง่มุม ทำให้เกิดแรงกระตุ้นการพัฒนาการสอนให้เหมาะสมกับการศึกษาและนักเรียนในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น














พบพร ผดุงพล / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ใส่ความเห็น