มติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2566 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และการเป็นประธานการประชุมด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2567-2568
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 ตุลาคม 2565) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษา ครั้งที่ 12 (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม1 ครั้งที่ 6 และ (3) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา2 ครั้งที่ 6 รวมถึงอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนให้ความเห็นชอบและรับรองร่างเอกสารดังกล่าว] และรับทราบการเป็นประธานการประชุมด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568 และเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2567
ผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และติดตาความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568 แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2561 – 2568 และแผนปฏิบัติการมะนิลา พ.ศ. 2561 – 2565 รวมทั้งร่วมกำหนดนโยบายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ยึดเป็นแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งได้กล่าวถึงนโยบายที่สอดคล้องกับแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนโดยเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ซึ่ง ศธ. ได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคนเก่ง คนดี และมีความสามารถ โดยมีการดำเนินนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพ Active Learning พื้นที่นวัตกรรม พาน้องกลับมาเรียน อาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรี และ MOE Safety Center
3. ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ 3 ฉบับ ดังนี้
สนับสนุนบทบาทของอาเซียนบวกสามในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเรียนรู้ รวมทั้งความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูการเรียนและสร้างความยืดหยุ่นในการศึกษาภายหลังโควิด-19 และความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสาม ปี พ.ศ. 2561 – 2568 | สาระสำคัญ เช่น |
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 | รับทราบวิกฤตการเรียนรู้และผลกระทบต่อนักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและขอให้อาเซียนเพิ่มความพยายามและจัดการกับวิกฤตด้วยแนวทางที่ครอบคลุมและยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน และการส่งเสริมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการศึกษา |
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 6 | รับทราบการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก EAS ในการดำเนินงานร่วมกันด้านการศึกษา เผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2565 – 2569 การเปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน-อินเดีย และความมุ่งมั่นในการบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการศึกษา |
3. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 | รับทราบการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก EAS ในการดำเนินงานร่วมกันด้านการศึกษา เผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2565 – 2569 การเปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน-อินเดีย และความมุ่งมั่นในการบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการศึกษา |
4. ที่ประชุมฯ ได้รับทราบเอกสาร “แนวทางการเปิดเรียน ฟื้นฟูและปรับตัวด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน” และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเชียน* (ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2565 ด้วยแล้ว) โดยปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญ เช่น การเข้าถึงการศึกษาและการมีส่วนร่วมในการศึกษาของประชากรชายขอบผ่านการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าเทียมสำหรับประชาชนในภูมิภาคอาเซียนและการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ดิจิทัล
5. การเป็นประธานการประชุมด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568* ซึ่งประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุมด้านการศึกษาอาเซียนฯ โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนครั้งที่ 19 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 รวมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ “Transforming Education to fit in the Digital Era (พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล)”
6. การเจรจาหารือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์ให้ความสำคัญในเรื่องระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะกระบวนการผลิตครู การฝึกอบรมครู การจัดสวัสดิการของครู การสับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายครู และการก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร (ครูใหญ่) นอกจากนี้ สิงคโปร์ต้องการดำเนินการแลกเปลี่ยนกับไทยในทุกระดับ ได้แก่ โรงเรียน ครูผู้สอน ผู้บริการสถานศึกษา มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญกับการใช้และออกแบบแพลตฟอร์มการเรียนเพื่อช่วยลดช่องว่างด้านการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กที่อยู่ห่างไกล และให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการฝึกอบรมให้แก่ครูไทย โดยเฉพาะการจัดการการอบรมให้แก่ครูอาชีวศึกษาในสาขาอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ โดยไทยและสิงคโปร์จะมีการหารือในรายละเอียดการดำเนินงานระหว่างกันต่อไป
______________________
1กลุ่มอาเซียนบวกสาม ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประซาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีก 3 ประเทศ ซึ่งรวมกัน เรียกว่า ชุมชนเอเชียตะวันออก และมีข้อตกลงกันเพื่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ 5 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านการเมืองและความมั่นคง (2) ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน (3) ด้านพลังงาน (4) ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก และ (5) ด้านสังคมและวัฒนธรรม
2การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) เป็นข้อริเริ่มที่ต่อยอดจากอาเซียนบวกสาม โดยเห็นว่าควรเปิดกว้างให้ประเทศคู่เจรจาที่อยู่นอกกลุ่มอาเซียนบวกสามเข้าร่วมด้วย ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมใน EAS จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ เครือรัฐออสเตรเลีย จีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเชีย และสหรัฐอเมริกา ณ ประเทศไทย
หมายเหตุ : *คณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ตุลาคม 2565) เห็นชอบให้ ศธ. เป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างปี พ.ศ. 2567-2568 และเห็นชอบปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา รวมถึงอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ราย นายวัลลพ สงวนนาม เนื่องจาก นายวัลลพฯ ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566
ใส่ความเห็น