รมว.ศธ. “ตรีนุช” ลงพื้นที่ปัตตานี พบปะและให้นโยบายผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา 5 จังหวัดชายแดนใต้ เน้นย้ำจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของผู้เรียนและชุมชน จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านกิจกรรมและหลักสูตรระยะสั้นที่หลากหลาย พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ทายาทครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ 33 ครอบครัว รวม 85 ล้านบาท และมอบทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องฯ สำหรับปีการศึกษา 2565 จำนวน 3,132 คน จำนวน 36 ล้านบาท โดยมีตัวแทนนักเรียนนักศึกษาเข้ารับมอบทุนการศึกษา 30 ราย
รมว.ศธ.มอบนโยบายการศึกษาชายแดนใต้
26 ธันวาคม 2565, โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี / น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นย้ำให้ทำงานเชิงบูรณาการ ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด สร้างความเป็นเอกภาพในการทำงาน เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ ขอขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2566–2570 จนเป็นผลสำเร็จ
ทั้งนี้ รัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ต้องการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกคน โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติในทุกด้าน รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการวางแผนงานในระยะยาว ผ่านกิจกรรมและโครงการที่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ ศธ. เพราะงานการศึกษาไม่มีวันเสร็จสิ้น เน้นการต่อยอดและขยายผลความสำเร็จใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 1) มิติทางกว้าง ได้แก่ จำนวนประชาชนคนไทยทุกคน 2) มิติทางลึก ที่เน้นการได้รับโอกาส ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 3) มิติของระยะเวลา ซึ่งมีทั้งแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“หลายเรื่องที่ ศธ.ดำเนินการ เป็นริเริ่มตั้งต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางการศึกษาให้ดีที่สุด และจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างเป็นองค์รวม แม้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เช่น การเร่งฉีดวัคซีน การให้เงินอุดหนุนนักเรียนรายหัว 2,000 บาท การเปิดเรียนระบบออนไลน์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ศธ.แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน ด้วยโครงการพาน้องกลับมาเรียน, โครงการทวิศึกษา สำหรับนักเรียนที่จบ ม.3 ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่ออาชีพแก่ผู้เรียน โดยเลือกอาชีพ รูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และประสานงานกับสถาบันอาชีวะในพื้นที่อย่างใกล้ชิด”
สำหรับนโยบายสำคัญอื่นๆ ที่ ศธ.ดำเนินการในเวลานี้ เช่น โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ, การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย ผ่านกิจกรรมและหลักสูตรระยะสั้นที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่, การสร้างความเสมอภาคและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ผ่านโครงการเงินอุดหนุนรายหัว การปรับอัตราค่าอาหารกลางวันแบบขั้นบันได, การยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหลัก เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด และสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีลักษณะและเงื่อนไขพิเศษ มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า นโยบายและทิศทางการสร้างคุณภาพทางการศึกษา สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกบริบทของภูมิภาคในประเทศ ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งต้องมีการสร้างเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการศึกษาระหว่างโรงเรียน มีการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning มีการพัฒนาสื่อเทคโนโลยี, ยกระดับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง, การนำบริบทของพื้นที่มาพัฒนาสู่เนื้อหาการเรียนการสอน ซึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องจัดการศึกษาเชิงพื้นที่พหุวัฒนธรรม, การขยายและเพิ่มจำนวนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สู่พื้นที่ภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง ที่ให้การรองรับเด็กนักเรียน
สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชนนั้น ศธ.ได้ร่วมกันวางแผนและจัดหลักสูตรอาชีวศึกษา ที่สอดรับกับทิศทางด้านการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ และเป็นความต้องการด้านแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
ในขณะเดียวกัน การสร้างสถานศึกษาปลอดภัย ผ่าน MOE Safety Center ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกฝ่าย เพื่อให้นักเรียนได้รับความปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนการยกระดับและพัฒนาครูผู้สอน ได้ปรับหลักเกณฑ์และการประเมินผลวิทยฐานะ ว.PA และลดเวลาการย้ายครูจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี รวมทั้งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดกลไกการผลักดัน และปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในขณะที่การเพิ่มเงินอุดหนุนครูและผู้ช่วยครูโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนให้เด็กพิการ ก็เพิ่มเติมให้ในส่วนของสมทบเงินเดือนครู และผู้ช่วยครูที่จัดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิการ ทั้งโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้ได้รับฟังปัญหาที่แท้จริง และมีฐานข้อมูลสำคัญในการจัดการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ และจะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน คือ การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพทางการศึกษา
“ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลและ ศธ.ให้ประสบผลสำเร็จ และมีความคืบหน้าเป็นลำดับ เพื่อการวางรากฐานทางการศึกษาให้บุคลากรของประเทศมีความพร้อม เติบโตเป็นคนดี คนเก่ง ทั้งความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะการดำเนินชีวิต มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าในโลกศตวรรษที่ 21 ต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว















มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา-ทุนการศึกษารายปีต่อเนื่อง
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ., นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กช., นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. และผู้บริหาร ศธ. ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ทายาทครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตฯ 33 ครอบครัว และมอบทุนการศึกษารายปีต่อเนื่อง แก่ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 30 ราย
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ. ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงเสนอขอรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียชีวิต โดยมติคณะรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2556) เห็นชอบสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 จำนวน 162 ราย โดยจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยหักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว และ ศธ.จัดสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับส่วนราชการต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องให้แก่ทายาทผู้ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจนจบปริญญาตรี
ทั้งนี้ ศธ.ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 14 ครอบครัว เป็นวงเงิน 34,440,000 บาท และในวันนี้ มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ รอบที่ 2 จำนวน 33 ครอบครัว เป็นวงเงิน 85,331,999.82 บาท พร้อมมอบทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องฯ สำหรับปีการศึกษา 2565 จำนวน 3,132 คน เป็นวงเงิน 36,320,000 บาท
“ในนามของ ศธ. ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ร่วมมือดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว












การเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ รมว.ศธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) สพป.ปัตตานี เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ และลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ที่โรงเรียนบ้านดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมตรวจเยี่ยมหน่วยบริการศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชน (Fix It Center) โดยผู้บริหาร ศธ.ได้มอบถุงยังชีพ ให้แก่ ครู นักเรียน และประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้กำลังแก่ผู้ประสบอุทกภัย
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพถ่าย
ใส่ความเห็น