21 ธันวาคม 2565, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย / พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น “Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022)” โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, Mr OBA Yuichi รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต, เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าร่วม และนายพุทธิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชื่นชม ศธ. ที่ได้สนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการ จนเกิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการทั้งการสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนด้านการศึกษาของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญทุกคนต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตโดยให้เริ่มจากตนเองก่อน และขอขอบคุณประเทศญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง อยากให้เด็กเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง มุ่งการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การประกอบการธุรกิจและการพัฒนาประเทศ
โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายเรียนรู้ตลอดชีวิตตามนโยบายรัฐบาล ขอให้ขยายไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะติดตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า สำหรับงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2565 เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการ ของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับกลุ่มโรงเรียน โครงการ Super Science High Schools และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA)
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีที ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดการเรียนรู้ของครู และการแข่งขัน Programming Hackathon โดยจัดงานรูปแบบไฮบริดจ์ ทั้งในโรงเรียนและผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้การเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง สถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี 25 แห่ง กลุ่มโรงเรียนในโครงการ Super Science High Schools ประเทศญี่ปุ่น 17 แห่งและ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 11 แห่ง จำนวนกว่า 600 คน เข้าร่วมงาน
รมช.ศธ. กล่าวว่า นับว่าเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพให้ก้าวไปสู่ความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นในอนาคต และเพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้กับนักเรียนในส่วนภูมิภาคมากขึ้น
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง มีเป้าหมายชัดเจน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย Thailand 4.0 สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 ในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) ของประเทศ
อีกทั้งยังมีโครงการทุนการศึกษาไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น และได้ทุนเพิ่มจากรัฐบาลญี่ปุ่นอีก 6 รุ่น ซึ่งนักเรียนทุนได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยทั้งด้านผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมและผลงานรางวัลจากการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ยังได้สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ สนับสนุนช่วยเหลือทางวิชาการแก่โรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา คู่พัฒนา ส่งผลให้เกิดการยกระดับการศึกษาในวงกว้างของประเทศไทย
ภายในงานนายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่ผู้สนับสนุน และนักเรียนนำเสนอโครงงานแก่
- สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
- องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA)
- ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- Dr.Naito Tomoyuki นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น
- ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย
- นักเรียนนำเสนอโครงงานของญี่ปุ่น
- นักเรียนนำเสนอโครงงานของไทย
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เปิดงานโดยการกดปุ่มใบพัดโฮโลแกรมตราสัญลักษณ์ ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีระบบบำบัดน้ำเสียอัจฉริยะของนักเรียน และเยี่ยมนิทรรศการ PCSHS CR Smart School รวมทั้งชมวีดิทัศน์การแข่งขัน Thailand – Japan Game Programming Hackathon (TJ-GPH 2022)เยี่ยมชมการพัฒนาเกมส์ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น พร้อมกล่าวทักทายและให้กำลังใจนักเรียน และนั่งรถรางไปยังศูนย์กีฬา เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการโครงงานแบบโปสเตอร์ของนักเรียนไทย และนักเรียนญี่ปุ่น รวมถึงผลงานและนวัตกรรมด้านไอซีทีที่นำเสนอเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ การใช้โปรแกรมต่าง ๆ โครงการเสาไฟอัจฉริยะ นวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบเกมส์ และกลุ่มสตาร์ทอัพ เป็นต้น











พบพร ผดุงพล / ข่าว, ภาพ
สำนักงานรัฐมนตรี / ภาพ
ใส่ความเห็น