“วิษณุ” เปิดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life”

ศธ.จัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อครูไทยที่ดีกว่า รองนายกฯ “วิษณุ” ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญ กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาแก้หนี้สินครูเป็นกรณีพิเศษ พร้อมชื่นชม ศธ.ดำเนินการสนองนโยบายได้เป็นอย่างดี ด้าน รมว.ศธ. “ตรีนุช” ปลื้มผลตอบรับจัดงานครั้งนี้ ช่วยปลดล็อกอิสรภาพทางการเงินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1.5 หมื่นราย มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท

17 ธันวาคม 2565, ฮอลล์ 5 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี / นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อครูไทยที่ดีกว่า พร้อมด้วยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำ ศธ., นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ., นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของ ศธ. โดยมีผู้บริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook “ศธ.360 องศา” ตลอดการจัดงาน 2 วัน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถช่วยผลักดันนโยบายปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้สินให้สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี และจัดงานในวันนี้ได้อย่างงดงาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ใกล้หมดวาระแล้วก็ตาม แต่กิจกรรมดังกล่าวนี้ยังสามารถดำเนินและขับเคลื่อนต่อไปได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลชุดก่อน ๆ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้ครูมาโดยตลอด โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ มีความตั้งใจเป็นพิเศษที่จะแก้ปัญหาหนี้รายย่อยของประชาชนในทุกแขนงอาชีพ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับหนี้สินครู เพราะว่าหนี้ของครูนั้นส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคุณภาพการศึกษา

โดยเปรียบเทียบกับสุภาษิต “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ครูนั้นก็เปรียบประหนึ่งดังกองทัพ จำนวนครูไทยทั้งประเทศเป็นเหมือนกองทัพใหญ่ ที่จะต้องขับเคลื่อนการทำงานในการประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ในเมื่อครูกลายเป็นกองทัพที่ไม่อาจเดินด้วยท้องได้ เนื่องจากยังขาดเสบียง ยังขาดพละกำลัง เงินเดือนที่ได้มาก็ต้องเอาไปใช้เพื่อชำระหนี้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหลบหน้าหนีเจ้าหนี้ มีความเป็นกังวล มีความทุกข์จากเรื่องหนี้สิน การที่ครูจะปฏิบัติภารกิจของตนให้สำเร็จได้นั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำหน้าที่ให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ การปฏิบัติหน้าที่ของครูก็ต้องบกพร่องและส่งผลกระทบไปถึงนักเรียน ไปถึงครอบครัว และกลายเป็นปัญหาไปถึงประเทศในที่สุด

รัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จึงได้กำชับให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชนรายย่อย ร่วมมือกับ ศธ. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครู แก้ปัญหาเรื่องการเงินของครู ดังนั้นการจัดตั้งสถานีแก้ไขปัญหาหนี้ตามพื้นที่จังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา หรือตามหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 558 แห่งทั่วประเทศ ถือว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูที่ดีและการจัดงานมหกรรมฯ อย่างในวันนี้ เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

“รู้สึกยินดีที่การจัดงาน ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ทราบว่ามีการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสำหรับเป็นฐานในการดำเนินงานรวมถึงมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือ อาทิ มาตรการที่หาทางจำกัดการเป็นหนี้ของครู เมื่อครูรับเงินเดือนหลักหักรายจ่ายที่เป็นยอดหนี้ออกไปแล้วต้องมีเงินเหลือขั้นต่ำ 30% นอกจากนั้นยังมีมาตรการในการปรับโครงสร้าง-ประนอมหนี้ ให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่ครู โดยในงานมีการจัดกิจกรรมที่ครอบคลุมครูไทยทุกกลุ่ม รวมถึงมีการจัดกิจกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้ กิจกรรมการวางแผน การให้คำปรึกษาทางการเงิน กิจกรรมการอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากสถาบันทางการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน”

รมว.ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูกว่า 9 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 80 ของครูทั่วประเทศมีหนี้สินรวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่สุด คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน

ในส่วนของ ศธ. ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสวัสดิการ และสวัสดิภาพแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นผู้มีวินัยทางการเงิน เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูได้เป็นอย่างดี

การจัดงานในวันนี้ เพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดีทางกฎหมาย รวมทั้งผู้ค้ำประกัน จำนวนกว่า 1.5 หมื่นราย มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้แก่ครูฯ และประชาชนทั่วไป ให้เป็นผู้มีความรู้มีระเบียบวินัยทางการเงิน

การจัดงานครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 โดยในวันแรกมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรน่าสนใจ เช่น

  • “OBEC Station สถานีแก้หนี้ครู” โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.
  • “จัดการเงินดี Happy แน่นอน” โดยนางสาวพุธิตา เพชรกลับ ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • “ปลดล็อกหนี้ครูไทย บันไดของความสำเร็จ” โดยนายสุรพล โอภาสเสถียร บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด นายอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร สอ.ครูสมุทรปราการ
  • “5 ขั้นตอนบริหารจัดการหนี้” โดยนางสาวธนธร กาญจนนิศากร เจ้าของเพจ NamFinance
  • กิจกรรมติดอาวุธความรู้ทางการเงิน หลักสูตร “รู้คิดพิชิตหนี้และรู้ทันภัยการเงิน” โดยนางสาวพรยุพา แสงศรีศิลป์ นายอัฑฒ์ นาคประยูร ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับการจัดงานมหกรรมในครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูง ศธ. และผู้บริหารสถาบันการเงิน รวมทั้งภาคีเครือข่ายเข้าร่วม อาทิ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., นายสุทิน แก้วพนา และนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), นางวรนุช ภู่อิ่ม รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มบริหารหนี้และกฎหมาย, นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย, นางภานิณี มโนสันติ์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), นางสาวจารุวรรณ เรืองสุวรรณ เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนายเฉลิมชัย บัวจันอัด ผู้ตรวจราชการกรมบังคับคดี

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
เจษฎา วณิชชากร, พบพร ผดุงพล / ภาพ
สมประสงค์ ชาหารเวียง, ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / Facebook Live

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: