กศน.เดินหน้าสร้างมาตรฐานหนังสือเรียน จัดประชาพิจารณ์ (ร่าง) มาตรฐานหนังสือเรียน กศน.ฉบับใหม่

สำนักงาน กศน. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ ผู้แทนสำนักพิมพ์เอกชน และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำมาตรฐานหนังสือเรียน กศน. และเกณฑ์การตรวจคุณภาพหนังสือเรียน กศน. ของสำนักงาน กศน. เพื่อใช้ในการจัดการศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้ได้มีหนังสือเรียน กศน. ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน กศน.ทุกระดับ

7 ธันวาคม 2565 – นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. มอบหมายให้นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานประชุมประชาพิจารณ์ (ร่าง) มาตรฐานหนังสือเรียน กศน.ฉบับใหม่ ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีนางพรรณทิพา ชินชัชวาล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/อำเภอ ศึกษานิเทศก์ ครู และผู้แทนจากสำนักพิมพ์เอกชนเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า การจัดประชาพิจารณ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับ (ร่าง) มาตรฐานหนังสือเรียน กศน. ในการนำไปเป็นข้อมูลจัดทำมาตรฐานหนังสือเรียน กศน. และเกณฑ์การตรวจคุณภาพหนังสือเรียน กศน. เพื่อจัดทำประกาศสำนักงาน กศน. เรื่อง มาตรฐานหนังสือเรียน กศน. และเกณฑ์การตรวจคุณภาพหนังสือเรียน กศน. สำหรับสำนักพิมพ์เอกชนและสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. ที่ดำเนินการจัดทำหนังสือเรียน กศน. ให้มีมาตรฐาน มีคุณลักษณะที่มีคุณภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

ถึงแม้ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล (Digital Economy) หรือยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม เริ่มได้สัมผัสกับการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ระบบสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ (IT) ซึ่งเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ทุกชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อนแล้วก็ตาม แต่สำหรับโลกของการศึกษาที่มุ่งเน้นในการยกระดับคุณภาพการศึกษา การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย การจัดการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เรียน กศน.นั้น

หนังสือเรียน ก็ถือได้ว่ายังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเป็นสื่อกลางให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เพราะ กศน. ถือหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง จะช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปยังผู้เรียน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมตามที่ต้องการ ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน

ดังนั้น การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพหนังสือเรียน จึงถือเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการจัดการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายของสำนักงาน กศน. ถ้าพัฒนาสื่อได้คุณภาพ ผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนได้โดยตรง ดังนั้นการพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพของหนังสือเรียนหรือสื่อการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการผลิต การจัดทำ เพื่อเผยแพร่สู่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ

นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการกำหนดและการจัดทำเนื้อหาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ และพัฒนาให้ครอบคลุมตัวชี้วัดการเรียนรู้ในแต่ละระดับแต่ละรายวิชา เพื่อให้หนังสือเรียน กศน.มีเนื้อหา องค์ประกอบในทุกๆด้านที่เหมาะสม สอดคล้อง และเอื้อต่อผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนของเราจำนวน 8 แสนกว่าคนในแต่ละภาคเรียน

วันนี้สถานศึกษาก็ใช้หนังสือเรียนที่ผลิตโดยภาคเอกชน ถือว่าภาคเอกชนก็เดินทางกับ กศน.มาโดยตลอด พอวันเวลาเปลี่ยน เราก็อยากเห็นหนังสือเรียนเรามีคุณภาพ บนมาตรฐานที่เป็นสากล เฉกเช่นหน่วยงานทางการศึกษาอื่นๆ เราก็อยากเห็นหนังสือเรียนเรามีคุณภาพ ประกอบกับ ณ วันนี้ กศน.กำลังจะก้าวสู่การปรับสถานะเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นโอกาสการปฎิรูป ในทุกๆ เรื่อง รวมถึงสื่อการเรียนการสอน ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอย่างหลากหลายของเรา

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ปัจจุบันมีความนิยมใช้สื่อออนไลน์แพร่หลายมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วสื่อสิ่งพิมพ์มีประโยชน์ มีหัวข้อ สารบัญให้ได้เรียนรู้และยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ กศน.ได้เป็นอย่างดี นั่นเท่ากับว่าถ้ากำหนดหัวข้อหลักสูตร ก็เท่ากับแนวทางไปสู่การเรียนรู้ ถ้าจะเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปยังสื่อดิจิทัล ก็จะเป็นเครื่องมือหรือสะพาน สู่ Digital Transformation หนังสือเรียนใหม่ สื่อมาตรฐานใหม่ ต้องมีความเชื่อมโยงกับสื่อดิจิทัล คงไม่ใช่หนังสือเรียนที่เป็นสื่อแค่กระดาษอีกต่อไป สื่อใหม่จะมีแนวทางยังไงที่จะเดินทางควบคู่ไปกับสื่อดิจิทัล

สำนักพิมพ์เอกชนหลายแห่งก็มีการประยุกต์เอาคลิปมาใส่ในหลายๆ บท หนังสือเรียนต่อไปก็จะไม่แข็งตัวเป็นแค่การอ่าน สามารถอ่านผ่านสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งในอนาคต ผู้เรียนจะมีดิจิทัลพอร์ตโฟลิโอ (Digital Portfolio) เมื่อส่งการบ้านจะวิ่งไปที่ Portfolio อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางกลุ่มพัฒนาคุณภาพฯ ก็กำลังขับเคลื่อนในการจัดทำระบบเครดิตแบงค์อยู่ ฉะนั้นหนังสือเรียนก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่

ในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อยากเห็นผู้ประกอบการร่วมมือการสร้างสื่อที่สร้างสรรค์ มีคุณภาพ เพราะคุณภาพไปสู่ผู้เรียน และนำไปสู่ความยั่งยืน สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไร้คุณภาพจะหายไปจากสารระบบอันสั้น โดยขอให้ยึด หลักที่ 1 ทำอะไรต้องไม่กระทบของเดิม ถ้าจะกระทบต้องแจ้งล่วงหน้า และต้องบอกเวลาด้วยว่าจะเปลี่ยน ใช้เวลา กี่วัน กี่เดือน กี่ปี และเนื้อหาต้องไปต่อได้ หลักที่ 2 อยากเห็นของใหม่ ก็ต้องบอก อยากเห็นอะไร อยากได้ความร่วมมือ หลักที่ 3 สามารถขอความร่วมมือกับผู้ซื้อ หลักที่ 4 ประกาศเป็นกติกาที่ต้องปฏิบัติได้ ทุกคนต้องทำกติกาใหม่ที่ประกาศ เพื่อยกระดับ กศน. ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หวังว่า สำนักงาน กศน.ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นหน่วยงานที่สมาร์ท ฝันที่เป็นสมาร์ทบุ๊คส์ มีหนังสือที่ชาญฉลาด เชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆไปสู่สื่อดิจิทัล ซึ่งจะอยู่ที่เราดีไซน์ ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

“จากการประชุมประชาพิจารณ์ร่วมกันในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนสำนักพิมพ์เอกชน ผู้บริหาร ตัวแทนครู ตลอดจนนักวิชาการทุกท่าน ที่ร่วมให้ข้อเสนอเพิ่มเติมที่มีประโยชน์และน่าสนใจเป็นอย่างมาก อันจะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์และได้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือและการแข่งขันกันด้วยคุณภาพเพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาไปด้วยกัน โดย สำนักงาน กศน.พร้อมจะสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชน และระบบราชการ ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: