14 พฤศจิกายน 2565, ห้องประชุมราชวัลลภ / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ Mr. Martin Kocher รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการฝึกอบรมโดยใช้การทำงานเป็นฐาน
ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย (Memorandum of Understanding on Cooperation in Vocational Education in Work-based Training between the Ministry of Education of the Kingdom of Thailand and the Federal Ministry of Labour and Economy of the Republic Austria)
เพื่อความร่วมมือกันอันเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับรองรับอุตสาหกรรม และโครงการต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยเรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วม
รมช.ศธ. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทั้งสองประเทศในครั้งนี้ มีกรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อมุ่งพัฒนากรอบความร่วมมือทั้งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ซึ่งเน้นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และตอบสนองความต้องการด้านแรงงานของภาคเอกชน โดยจะส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในโรงเรียน วิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษาและสถานประกอบการ ในด้านแรงงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามความสนใจของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินการประกอบด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงเรียน วิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา และนายจ้างที่เป็นบริษัทที่จัดฝึกอบรม โดยมี “วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ” เป็นสถาบันการศึกษานำร่อง และขยายไปสู่วิทยาลัยอื่น ๆ ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติของการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาในบริษัทต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ และจะส่งเสริมให้บริษัทจัดอบรมเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกระบวนการฝึกอบรมและการปรับเนื้อหาของหลักสูตรที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนธุรกิจ รวมไปถึงการจัดเตรียมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติ ถือเป็นการขยายความร่วมมือในการให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เครื่องมือและบุคลากรให้กับอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เป็นการยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาของไทยให้เข้มแข็งและเทียบเท่ามาตรฐานของออสเตรีย สู่ระดับสากล
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างไทยกับออสเตรีย เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ทางออสเตรียได้ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา จนพบกับวิทยาลัยสัตหีบ จึงได้ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง 20 ปี ทั้งเรื่องหลักสูตรการจัดฝึกอบรมครูและการเรียนการสอน แต่ในครั้งนี้คณะจากประเทศออสเตรียได้เข้ามาทำความร่วมมือ เซ็น MOU เพื่อขยายความร่วมมือให้กว้างขวางกว่าสัตหีบแห่งเดียว สร้างพื้นฐานของการทำงานจริง ผลิตคน แรงงาน ให้ได้มาตรฐาน สามารถเรียนแล้วปฏิบัติงานสู่โรงงานที่ทันสมัย และคาดว่าในอนาคตจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่ต่างประเทศ เพื่อผลิตกำลังคนได้อย่างมีคุณภาพ เพราะประเทศไทยกำลังต้องการคนในด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น ทัดเทียมมาตรฐานสากล









พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น