“การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมประชากรโลก การเกิดสภาวะรูปแบบ Disruption สงครามการค้าระหว่างประเทศ จนถึงสถานการณ์ของโควิด 19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อกันมาเรื่อย ๆ จนไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ และไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตได้ สถานการณ์แบบนี้ เรียกว่า “วูก้า” (VUCA World) ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องตัดสินใจ หรือผู้นำองค์กรมากที่สุด ที่จะต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตามแต่ละรูปแบบ
ดังนั้น เพื่อสู้กับความผันผวนของโลก จึงต้องการสนับสนุนให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ โดยครูคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนเด็ก แล้วเพิ่ม โค้ดดิ้ง (Coding) และสติ หรือ STI (Science, Technology, Innovation ) เข้าไป จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญทุกปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งต้องส่งเสริมให้เหมาะกับช่วงวัย เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดแบบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กล้าตัดสินใจลงมือทำ ทำผิดแล้วทำใหม่ได้ เรียนรู้การแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบ มีทักษะการอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณ
ขณะเดียวกัน สถานศึกษาควรเน้นความสำคัญของ STEAM Education โดย A หมายถึง Art of Life, Art of Living และ Art of Working Together เช่น ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความเมตตากรุณา ความกตัญญู อารมณ์สุนทรีย์ ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรของไทยชนะในเวทีโลกได้”
“STEM” เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
“STEAM” มุ่งเน้นเพิ่มศาสตร์การใช้ชีวิต (Art of Life) ที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตอาสา และช่วยเหลือผู้อื่นประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
มีตัวอย่างที่ใช้ STEAM Education เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นผู้จุดประกายการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วย STEAM Education โดยสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ดำเนินการนิเทศ กำกับดูแล ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านคุณภาพของโรงเรียนพื้นที่เกาะทั้ง 11 แห่ง หรือ วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา จัดการเรียนการสอนในสาขาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีการท่องเที่ยว) โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง มีมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยในเครือข่ายความร่วมมือ ที่เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ผู้สอนนำสาระและทักษะพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวมทั้งทักษะด้านวิชาชีพ มาบูรณาการจัดทำเป็นโครงงาน (Projects) ภายใต้การจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยบูรณาการร่วมกับ STEAM for Innopreneur เน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการนำแนวคิดเชิงนวัตกรรมมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อ้างอิง:
https://moe360.blog/2021/11/15/sema2-pangnga
https://moe360.blog/2022/04/22/school-learning-center-island-area
https://moe360.blog/2022/05/21/20052565


ใส่ความเห็น