จังหวัดสกลนคร / ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่จังหวัดสกลนคร ในงาน “ตลาดนัดแก้หนี้สินครูไทสกล 65”
โฆษก ศธ. กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเปิดรับลงทะเบียนผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนประเทศรวม 41,128 ราย ในส่วนของจังหวัดสกลนครมีผู้ลงทะเบียน 1,071 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และสถานีแก้หนี้ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่
เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ จังหวัดสกลนครได้มีจัดงานมหกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้สินครูไทสกล 65” โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อตอบสนองนโยบาย ศธ.ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อให้สถาบันทางการเงินและผู้เข้าร่วมโครงการ ได้มีการเจรจาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
การดำเนินงานครั้งนี้ นายไพรวัลย์ จันทะนะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนครเขต 1 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา จังหวัดสกลนคร ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานนี้ขึ้นมา โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้ารับการปรึกษากับสถาบันการเงิน ออกเป็น 8 สถานี ภาคเช้า 4 สถานี และภาคบ่าย 4 สถานี โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดสกลนคร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ทั้งนี้ จังหวัดสกลนครได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในระดับพื้นที่ใน 7 แนวทางดำเนินการ ดังนี้
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สมกับเป็นสินเชื่อสวัสดิการ
- ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ให้เกินศักยภาพที่จะชำระคืนได้ด้วยเงินเดือน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นผู้ดูแลหน่วยตัดเงินเดือนครู จะเป็นจุดศูนย์กลางประสานช่วยครูแก้ไขหนี้สินก้อนต่าง ๆ
- ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย โดย ศธ.จะเป็นตัวแทนครูขอให้ศาลช่วยความเป็นธรรมในการไกล่เกลี่ยคดีที่ครูถูกฟ้อง
- จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ทั่วประเทศแล้ว 558 สถานี คือ ระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง 236 แห่ง
- ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายสามารถแบ่งเงินเดือนร้อยละ 70 ได้อย่างเพียงพอ
- กำหนดให้หักเงินสวัสดิการ ช.พ.ค.เพื่อสามารถเป็นหลักประกันเงินกู้ได้
- การให้ความรู้และทักษะการเงิน
“หากหน่วยงานทางการศึกษาในระดับพื้นที่ ได้ร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู รวมไปถึงหน่วยงานสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยกันวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจัง จะทำให้ครูมีหนี้สินลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจ เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเยาวชนและการศึกษาต่อไป” โฆษก ศธ. กล่าว









ใส่ความเห็น