‘คุณหญิงกัลยา’ ร่วมสัมมนาบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน “หลักสูตรชลกร” ด้วยองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ผสมผสานองค์ความรู้สากล

5 กันยายน 2565, โรงแรม lbis Bangkok Riverside กรุงเทพฯ / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงานสัมมนาวิชาการโครงการบริหารการจัดการน้ำโดยชุมชนหลักสูตร “ชลกร” วิชาการจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ (ศาสตร์พระราชา)

รมช.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ตั้งใจมาพบเพื่อให้กำลังใจและขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้กำหนดนโยบายวางแผนการศึกษาหลักสูตร “ชลกร” ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาตลอด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้

เนื่องจากได้มีโอกาสถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ทำให้ซึมซับพระราชปณิธานในการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยหลักการ 3 ประการ คือ ประหยัด ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านลิ่มทอง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ และได้เป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในเวทีระดับโลกอีกหลายเวที

ทั้งนี้ คณะกรรมการน้ำชุมชนบ้านลิ่มทอง ได้ร่วมกันคิดและเตรียมวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแนวคลองส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น คือแนวคิดเรื่องเครือข่ายสระเก็บน้ำประจำไร่นา ด้วยการขุดสระเก็บน้ำแก้มลิงขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บสำรองน้ำเชื่อมต่อกับตัวคลองส่งน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเล็กน้อยจากภาคเอกชน และชาวบ้านเจ้าของที่ดินร่วมบริจาคที่ดินเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ขุด 7 สระ พื้นที่รวม 14 ไร่ แบ่งปันทั้งน้ำและจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรรอบสระ จัดเตรียมแปลงเพาะหญ้าแฝกและต้นไม้ที่ให้ร่มเงา สำหรับใช้ในการปลูกรอบแนวคลองส่งน้ำ และสระเก็บน้ำแก้มลิง เพื่อยึดดินขอบตลิ่งไม่ให้พังทลาย ลดการระเหยของน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นดิน นำไปสู่การแก้จน แก้น้ำท่วม ที่สำคัญมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี แก้ปัญหาน้ำแล้งได้

ทั้งนี้หลักสูตร “ชลกร” มีการปฎิรูปองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชา มาผสมผสานกับองค์ความรู้สากล เป็นการทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียนการสอนเกษตร เพื่อช่วยประเทศอีกทางหนึ่ง ให้ผู้เรียนมีรายได้มากขึ้น เปลี่ยนแปลงทัศนะคติที่มีต่ออาชีพเกษตรกรว่ารายได้ต่ำและลำบาก โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนำมาปรับใช้ร่วมกับอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ต่อจากนี้ไปการเรียนทางการเกษตร จะเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้นักเรียนจบออกมาเป็นเกษตรกรทันสมัย มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเมื่อมีน้ำแล้วทุกอย่างก็จะทำให้ทุกคนพึ่งพิงตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า จากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 “น้ำคือชีวิต” น้ำจึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำฝน ถ้าไม่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จะทำให้เกิดปัญหาตามมาและเกิดผลกระทบมากมายหลายด้าน เพราะน้ำฝนที่กักเก็บไม่ได้ ไม่ใช่แค่เพียงไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่กลับก่อให้เกิดโทษตามมามากมาย อาทิ ปัญหาอุทกภัย ภาวะน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยซึ่งยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น แต่ถ้าทุกคนได้เรียนรู้หลักการบริหารจัดการน้ำที่ถูกวิธีจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เมื่อเกษตรกรมีน้ำ ก็จะมีอาหาร คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะตามมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการเกษตรจะเป็นกลไกสำคัญนำไปสู่การก้าวข้ามวิกฤตในทุกรูปแบบอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: