รมช.ศธ. ‘คุณหญิงกัลยา’ เปิดงาน”Coding Achievement Awards” ภาคใต้ ปลื้มผลงานสอนโค้ดดิ้ง 3 ปี มั่นใจเด็กมีภูมิคุ้มกันรับ VUCA World

(1 กันยายน 2565) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้านโค้ดดิ้ง “CODING Achievement Awards” ภาคใต้ ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 300 คน เข้าร่วมงาน

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดภัยและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักยภาพในการแข่งขัน หนึ่งในเป้าหมายคือให้เยาวชนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ ซึ่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โรงเรียนต้องเน้นให้นักเรียนได้สัมผัสกับความเป็นจริง หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่สามารถนำไปใช้ได้จริงที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากคลังแห่งความรู้ทั่วโลก ด้านครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือคอยให้คำแนะนำ นักเรียนก็เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้คอยรับความรู้เพียงอย่างเดียว เป็นผู้ที่ต้องศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล และปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวตอนหนึ่งว่า จากที่เริ่มผลักดันโครงการ Coding มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้นักเรียนทุกคนในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียน Coding ให้มีทักษะ คิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เพราะการสอน Coding ในโรงเรียน จะเป็นการเปิดโลกใบใหม่ผ่านเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ นอกจากจะเป็นการจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะในการวางแผน การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา จึงเป็นความท้าทายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะช่วยชี้แนะหรือมีส่วนร่วมในการวางแผนอนาคตของเด็กให้สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นายสมบูรณ์ เรืองแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร กล่าวว่า การจัดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้านโค้ดดิ้ง “CODING Achievement Awards” ทั้งในรูปแบบ Unplugged และ Plugged ภาคใต้ ประจำปี 2565 ได้เปิดรับสมัครให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคใต้ ดำเนินการคัดเลือกคุณครูผู้สอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลุ่มสาระอื่นที่ได้นำองค์ความรู้ด้าน Coding ไปบูรณาการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นอย่างเหมาะสมทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีครูส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือก ทั้งสิ้น จำนวน 44 คน แบ่งเป็น

  • ประเภท Unplugged ระดับประถมศึกษา จำนวน 14 คน
  • ประเภท Unplugged ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 5 คน
  • ประเภท Plugged ระดับประถมศึกษา จำนวน 13 คน
  • ประเภท Plugged ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 คน

ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินผลงาน ซึ่งเป็นทีม Coding Mentor ที่ได้รับแต่งตั้งจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการตัดสินผลการประกวด สรุปผลงานได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 30 คน และผลงานได้รับเกียรติบัตรเข้าร่วม จำนวน 14 คน

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้รับชมการสาธิตการสอน Unplugged Coding ของระดับมัธยมศึกษา ในการแก้ปัญหา Tower of HANOI และเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการผลงานดีเด่นด้าน Coding ภาคใต้ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ

  • ผลงานดีเด่น Unplugged Coding “ขยะไม่ไร้ค่า” จากโรงเรียนบ้านกู้กู จังหวัดภูเก็ต โดยใช้กิจกรรมเดินเกมบนตารางนำเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและอาศัยประสบการณ์เดิมของนักเรียนมาคิดแก้ปัญหา ด้วยการช่วยกันวางแผนให้หุ่นยนต์เดินไปตามเส้นทางที่สามารถเก็บขยะใส่ตะกร้าให้ได้มากที่สุด คุ้มค่ามากที่สุด และต้องคำนวณราคาขยะที่เก็บไปด้วยว่าเก็บไปได้กี่ชิ้นแล้วและราคารวมเป็นเท่าไร หากเก็บขยะผิดประเภทก็จะมีการติดลบคะแนนอีกด้วย
  • ผลงานดีเด่น Plugged Coding ระดับมัธยมศึกษากิจกรรมการเรียนรู้ Scratch Game Maker จากโรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นักเรียนจะเรียนรู้จากตัวอย่างเกมที่ครูสร้างขึ้น โดยครูเป็นผู้แนะนำการสร้างเกมและตั้งคำถาม ทำให้นักเรียนสามารถสร้างเกมอย่างง่ายด้วยโปรแกรม Scratch สามารถช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนเขียนโค้ดของนักเรียนให้ดีขึ้นจนสร้างผลงานได้ และกิจกรรมนี้จะสอนให้ผู้เรียนได้เป็นนวัตกรน้อยในการสร้างสรรค์เกมการศึกษาที่นำไปใช้กับสำหรับน้องปฐมวัย

รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เตรียมเด็กมาแล้วกว่า 3 ปี โดยเริ่มจากการเรียน Unplugged Coding ก่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงพัฒนาไปเป็น Plugged Coding อาจจะมีความพร้อมมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญ VUCA World อย่างแน่นอน โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อให้คนไทยสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองให้ได้ ทั้งนี้ทักษะ Coding จะต้องแข็งแรงทั้งสองอย่างจึงจะช่วยให้เจอกับโลกยุคใหม่อย่างเข้มแข็ง ไม่ถูกหลอกง่าย เป็นคนดีและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้ครอบครัวด้วยการนำความรู้ด้าน Coding ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือทรัพยากรที่มีอยู่ ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงวันนี้ ก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้พัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: