17 มีนาคม 2565 – ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม หลักสูตรที่ 3 ‘Metaverse in Education’ เปิดโลกการศึกษาไร้ขีดจำกัดในยุคจักรวาลนฤมิต โดยคณะวิทยากรจากสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ThaiAECT และผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse จำนวน 11 คน มีนายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. เป็นผู้กล่าวรายงาน, ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. และ น.ส.จงจิตร ฟองละแอ นักประชาสัมพันธ์ เป็นพิธีกรการอบรม ถ่ายทอดสดผ่านระบบ Microsoft Teams จากห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมออนไลน์ 72,000 คน
ศาสตราจารย์ ดร. ปรัชญนันท์ นิลสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อธิบายความหมายของ “Metaverse” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันจนกลายเป็น “ชุมชนโลกเสมือนจริง” ที่สามารถหลอมรวมวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวผ่านเทคโนโลยี AR และ VR สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมต่อผู้คนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่โลกดิจิทัลโดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีหลายประเภท เพื่อทำกิจกรรมใดก็ได้พร้อมกัน
สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่ต้องการสร้าง DIGITAL CITIZEN ที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเป็นธรรมชาติ ซึ่งในด้านการศึกษา จะทำให้ครูกับนักเรียนพบกันได้ทุกที่ ครูสามารถสาธิตสิ่งต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ของจริง ผู้เรียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ในโลก Metaverse ก่อนจะไปเจอกับของจริงได้
รศ.ดร.ปณิตา วรรณพิรุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงการสร้างนิสัยผู้เรียนให้เรียนรู้ตลอดชีวิตได้โดยการประยุกต์ใช้ Metaverse ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง นำเหตุการณ์ประจำวันในชีวิตของแต่ละคนเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้สู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ช่วยการสะท้อนประสบการณ์เรียนรู้ที่แตกต่างกันพร้อมกับการปรับปรุงการสร้างข้อมูลใหม่อย่างสร้างสรรค์
ขณะเดียวกันยังช่วยเอาชนะข้อจำกัดด้านพื้นที่และข้อจำกัดทางกายภาพในการเรียนรู้และการศึกษา ด้วยการใช้เป็นเสมือนโลกจำลองสำหรับจัดชั้นเรียนออนไลน์แบบ Real Time สามารถสร้างภาพซ้อนทับดิจิทัลเพื่อสร้างวัตถุ 3 มิติในธรรมชาติ เพิ่มพลังให้ภาพรวมเชิงลึก สร้างประสบการณ์เชิงโต้ตอบ ประสบการณ์แบบดื่มด่ำ ประสบการณ์แบบมีส่วนร่วม การจำลองเสมือน และการสาธิตเชิงปฏิบัติในสภาพแวดล้อมดิจิทัล ทั้งนี้เมื่อผู้เรียนกลายเป็น DIGITAL CITIZEN แล้วจะต้องมีการสร้างค่านิยมความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นด้วย
นางศิรินุช ศรารัชต์ ผู้อำนวยการภาคธุรกิจการศึกษา บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า Metaverse มีประโยชน์ในการสร้างประสบการณ์ “อยู่ในรองเท้าของคนอื่น”ผ่านเทคโนโลยี Immersive เพื่อเพิ่มความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ช่วยให้นักเรียนสามารถบูรณาการแนวคิดตำราเรียนเข้ากับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพวกเขา สามารถสร้างสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริงและเตรียมความพร้อมสำหรับการมีส่วนร่วมในอนาคต ลดภาระทางข้อมูลที่ซับซ้อน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ในสถานการณ์จริงที่หลากหลาย
ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างมาก สามารถนำเทคโนโลยีเข้าสู่ผู้เรียนได้หลายช่องทาง และมีวิธีนำเสนอที่แตกต่าง ซึ่งสิ่งสำคัญคือเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่จะพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ วันนี้จึงอยากเห็นแนวคิดใหม่ในการจัดการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี Metaverse ตลอดจนขอให้ความรู้ที่ได้รับในวันนี้เป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เรียน ต่อยอดทำให้เป็นการจัดการศึกษาแบบ Active Learning Practice ให้ได้
สำหรับหลักสูตรการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรจากสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ThaiAECT และผู้เชี่ยวชาญ Metaverse จำนวน 11 คน ประกอบด้วย
- ศาสตราจารย์ ดร. ปรัชญนันท์ นิลสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- รศ.ดร.ปณิตา วรรณพิรุณ หัวหน้าศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- นางศิรินุช ศรารัชต์ ผู้อำนวยการภาคธุรกิจการศึกษา บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด
- รศ.ดร. สุรพล บุญลือ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- รศ.ดร.อนิรุทธ์ สติมั่น อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศาสตราจารย์ ดร. จินตวีร์ คล้ายสังข์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.พรพิมล ศุขะวาที ภาควิชาหลักสูตรและการสอน สาขาวิชาการสอนภาษาต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ. ดร.ประกอบ กรณีกิจ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา
- นางสาวจิดาภา วัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัลไดอะล็อก จำกัด
- นายนพดล รัตน์วิเศษรัตน์ ผู้จัดการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด
Metaverse in action - นายธนชาติ วิวัฒนภูติ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และเทคโนโลยีบริษัทลานนาคอม จำกัด



















ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ศุภสิทธิ์ ภูภักดี / ถ่ายภาพ
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพเพิ่มเติม Facebook
ใส่ความเห็น