รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” ตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดกระบี่ เรื่อง การจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์

ข้าพเจ้า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดังนี้

คำตอบข้อที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

  1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งให้สถานศึกษาดำเนินการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง ในรูปแบบของเงินสด หรือบัญชีธนาคารแล้วแต่กรณี
  2. ลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปีการศึกษา 2564 พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงจัดทำสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมจำนวน 34,887 แห่ง

    นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด ดำเนินการจัดการเรียนการสอนใน 4 รูปแบบ ได้แก่
    1. การเรียนการสอนผ่านทีวี (ON-AIR) โดยการจัดการเรียนรู้จาก DLTV ผ่านจานดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี (Cable TV) และระบบ IPTV
    2. การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) ผ่านทางระบบ Video Conference ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน และระบบอื่น
    3. การเรียนการสอนแบบ ON-DEMAND ผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง Youtube (DLTV Channel 1-15) และแอปพลิเคชัน DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โดยนักเรียนสามารถศึกษาย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติมได้
    4. การเรียนการสอนแบบ ON-HAND สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยให้นำหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง
    ในกรณีที่สถานศึกษาอยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามปกติ (ON-SITE) โดยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการควบคุม กำกับ ติดตามให้ความสะดวกแก่สถานศึกษา ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมและบริบทของพื้นที่ได้ โดยนักเรียนและผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องหาซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม

    สำหรับโรงเรียนเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ดังนี้
    1. จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน “ฝ่าวิกฤตโควิด 19” และให้บริการสายด่วน 1693 เพื่อรองรับการตอบข้อซักถาม และให้ข้อมูลต่าง ๆ
    2. จัดทำแนวทางการจัดการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกำชับโรงเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ
    3. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการศึกษาออนไลน์กับบริษัทพันธมิตร จำนวน 22 ราย ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล หรือ ODLC (OPEC Digital Learning Center) ที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
    4. มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ การคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น พร้อมทั้งแจ้งให้โรงเรียนมิต้องจัดการเรียนการสอนเฉพาะทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ตามบริบทและความเหมาะสมกับนักเรียน
    5. มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน ซักซ้อมแนวทางการด าเนินงานและการบริหารงบประมาณเงินอุดหนุนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้โรงเรียนสามารถนำเงินอุดหนุนค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไปใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนตามความจำเป็นได้ รวมถึงเป็นค่าอินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ครู นักเรียน หรือจัดหาอินเทอร์เน็ตซิมการ์ด ชั่วโมงอินเทอร์เน็ต หรือการเช่าซื้อจัดหาซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสารทางไกลเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ได้

    ในส่วนของอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้จัดทำประกาศ เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษา ซึ่งในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ หรือขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยการให้นักเรียน นักศึกษานำใบความรู้ ใบกิจกรรม ใบงาน หรือการบ้านที่ครูมอบหมายไปศึกษาที่บ้าน

คำตอบข้อที่ 2 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย แผนงาน หรือแนวทางเพื่อให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการด้านการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือมีการประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มีแนวทางในการให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนที่ต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงระบบเครือข่ายของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า ได้มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ให้แก่นักเรียนที่มีความจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2564 จนถึง 15 ตุลาคม 2564 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ใน 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) โดยให้ใช้งานได้ไม่จำกัด สำหรับแอปพลิเคชันเพื่อการเรียน ได้แก่ Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, Cisco Meeting, Webex และ Line Chat อีกทั้งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมได้อีก 2 GB
  2. สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตบ้านสำหรับการเรียน (Fixed Broadband) เดือนละ 79 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 2 รอบบิล

    นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรค่าเช่าใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กับโรงเรียนทุกแห่งในสังกัด เพื่อจัดการเรียนการสอนและการบริหารภายในโรงเรียน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณค่าเช่าใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนี้
    – โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 1,300 บาท ต่อเดือน
    – โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 – 300 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 2,000 บาท ต่อเดือน
    – โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 301 – 500 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 3,900 บาท ต่อเดือน
    – โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 501 – 2,000 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 5,000 บาท ต่อเดือน
    – โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 2,001 คนขึ้นไป ได้รับจัดสรรงบประมาณโรงเรียนละ 6,000 บาท ต่อเดือน
    – ศูนย์บริหารการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมโรงเรียนละ 650 บาท ต่อเดือน

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/040/T_0022.PDF

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑