ศธ.ชงพัฒนาเครือข่ายเอเปค เพื่อการมีงานทำในโลกที่ผันผวน

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” เผยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HRDWG ครั้งที่ 47 ผลักดัน 3 ประเด็นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชงจัดกิจกรรม Voice of Youth และพัฒนาเครือข่ายเอเปคเพื่อการมีงานทำในโลกที่ผันผวน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบ Zoom Application

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเตรียมการของที่ระลึก และการใช้ตราสัญลักษณ์ “ชะลอม” เป็นตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญในประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ และมอบหมายทุกหน่วยงานให้ดำเนินการอย่างบูรณาการ

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้มีการกำหนดหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน 3 เรื่อง ได้แก่

  1. Smart Citizens เป็นการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และมีจิตสาธารณะ
  2. Digital Literacy เน้นเรื่องการพัฒนาคนให้มีความฉลาดรู้ในเรื่องของดิจิทัล
  3. Green and Eco-Friendly Awareness มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและมีสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในการเป็นเจ้าภาพประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRDWG) ครั้งที่ 47 ของเอเปค ที่จะมีขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งอยู่ในช่วงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซม ครั้งที่ 2 (SOM2) รวมถึงการจัดทำ Voice of Youth ที่เน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายเอเปคเพื่อการมีงานทำในโลกที่ผันผวน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนและบุคลากรให้มีสมรรถนะพร้อมเป็นแรงงานในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเอเปค (APEC) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย โดยเป็นการดำเนินความร่วมมือที่มุ่งเน้นการผสานความร่วมมือเพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑