(7 กุมภาพันธ์ 2565) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการประชุมวิชาการระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 42 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว อ.อรัญประเทศ และตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกโดยสร้างนวัตกรรมการใช้สีกำหนดอักษร อ.วังน้ำเย็น โดยมีนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว, นางสาวกมลวรรณ กลั่นเกลี้ยง รองศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว, คณะผู้บริหาร และคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาร่วมต้อนรับ
ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการประชุมวิชาการระดับชาติ อกท.
นายเกียรติสยาม ลิ้มตระกูล ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว กล่าวถึงจุดแข็งของ วทษ.สระแก้ว ที่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งด้านบุคลากร ครุภัณฑ์ และอาคารสถานที่ มีโครงการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการภาครัฐและเอกชนในการจัดการศึกษาอาชีวะเกษตร มีองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) เป็นศูนย์ในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียนนักศึกษา มีพื้นที่สำหรับงานฟาร์มเชิงธุรกิจที่สามารถเป็นแหล่งให้นักเรียนนักศึกษาฝึกทักษะ และสร้างรายได้ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการจัดการศึกษานอกระบบและทวิภาคี รวมถึงมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและหลักสูตรอาชีวศึกษาเกษตรมีความยึดหยุ่นตอบสนองความต้องการของผู้เรียน
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเอกลักษณ์ “เมืองแคนตาลูป” ซึ่ง วษท.สระแก้ว เป็นสถานศึกษาที่ชุมชนรู้จักในนามของสถานศึกษาที่เป็นต้นแบบของการปลูกแตงแคนตาลูป ที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดย วษท.สระแก้วได้ทำการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ตลอดมาจนมีชื่อเสียง และมีการจัดงานออกร้านในทุกปีจนสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่จำนวนมาก
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ขอชื่นชม วษท.สระแก้ว ที่สามารถสร้างชื่อเสียงและความโดดเด่นด้านแคนตาลูปมากว่า 60 ปี มีการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์มากขึ้น เด็กจบไปไม่ตกงาน ขณะที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาเป็นกรณีพิเศษ โดยเร่งส่งเสริมให้คนมาเรียนอาชีวะมากขึ้น เนื่องจากประเทศต้องการคนเรียนจบแล้วทำงานเป็น ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมหอพักนักเรียนเพื่อรองรับผู้เรียนเพิ่มขึ้นหลายแห่ง จึงอยากฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้คนมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายคือสามารถเรียนจบมาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
ทั้งนี้อยากให้ วษท.สระแก้ว เป็นผู้นำทางความคิดให้กับชุมชน พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องวิชาชีพ เน้นส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์ เช่น ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น จะเป็นหนทางให้คนมีอาชีพ หากสนใจให้ทำโครงการเสนอคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะพิจารณาลงทุนให้ในระยะแรกพร้อมหาตลาดให้ด้วย รวมทั้งให้เน้นความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เชิญชวนให้ประชาชนศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน นำโค้ดดิ้งมาใช้ และลงมือปฏิบัติจนสำเร็จต่อไป
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะทางประมาณ 700 เมตร ดูพื้นที่การนำเสนอนิทรรศการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เยี่ยมชมการดำเนินงานงานฟาร์มเกษตร ฟาร์มพืช ฟาร์มประมง ฟาร์มสัตว์ และโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส
ตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก โดยสร้างนวัตกรรมการใช้สีกำหนดอักษร
ช่วงบ่าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางไปตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกโดยการใช้สี ณ โรงเรียนบ้านหนองแก อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
นางสาวเนาวะรัตน์ ถาวร ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก นำเสนอว่า ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นับเป็นปัญหาขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่านออกและเขียนภาษาไทยได้ โดยนวัตกรรมที่โรงเรียนหนองแกใช้ คือการนำสีมาใช้ในการกำหนดขั้นตอนในการอ่าน เช่น สีดำมีความหมายป็นพยัญชนะต้น สีแดงเป็นสระ และสีน้ำเงินเป็นตัวสะกด เวลาที่เด็กแจกรูปสะกดคำ ก็ต้องอ่านสีดำ สีแดงและสีน้ำเงิน โดยสีจะเป็นตัวกำหนดให้เด็กลำดับความสำคัญในการอ่าน ทำให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
ขณะเดียวกันได้ค้นพบว่าการเรียนแบบ “Phonic” และอาศัยการสะกดคำภาษาอังกฤษที่มีความคล้ายภาษาไทย โดยใช้สีและสัญลักษณ์ตัวเลขมาช่วยแยกประเภทตัวอักษรที่เป็นสระ พร้อมทั้งใช้ภาพสื่อความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ จะทำให้นักเรียนอ่าน-เขียนแปล ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นคำบัญชีพื้นฐานกว่า 1,200 คำ ได้อย่างคล่องแคล่วในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และมีเวลามากพอที่นักเรียนจะได้พัฒนา Grammar-Tense-Conversation ในช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
ซึ่งผลที่ได้คือโรงเรียนบ้านหนองแก ขึ้นแท่นสอบ O-Net ได้คะแนนสูงสุดใน จ.สระแก้ว 5 ปีซ้อน (2559 – 2563) และคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศเกือบ 2 เท่า กลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีนวัตกรรมด้านการสอนเป็นเลิศ มีนักการศึกษาและผู้บริหารจากสถานศึกษา เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า “การอ่านคือต้นทางของการเรียนรู้ทุกอย่าง” จึงอยากฝากโรงเรียนบ้านหนองแกไปทบทวนว่าจะขยายผลการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยินดีสนับสนุนให้การเรียนการสอนวิธีนี้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และไม่จำเป็นต้องเป็นครูเฉพาะทางด้านภาษาที่สามารถสอนได้ รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานไปหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกอย่างจริงจัง ต้องทำให้เด็กอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณให้ได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายในท้องถิ่น เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมกับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น