(14 พฤษภาคม 2564) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ โดยเป็นการประชุมออนไลน์ (Video Conference) ผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ของกระทรวงศึกษาธิการ
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID –19) ระลอกใหม่ทั่วประเทศมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการติดเชื้อของบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนกลาง) มีผู้ติดเชื้อแล้ว จำนวน 30 คน อีกทั้งขณะนี้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดภาคเรียน
กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากร และผู้ปกครองเป็นสำคัญ
จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
- มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ สำหรับสถานศึกษา ในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ
ให้สถานศึกษาถือปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่
ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 23 เมษายน 2564 อย่างเคร่งครัด - มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ สำหรับบุคลากร ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการถือปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 23 เมษายน 2564 อย่างเคร่งครัด
- มาตรการให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work From Home) ในเดือนพฤษภาคม 2564 ให้ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 28 เมษายน 2564
กิจกรรม “เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้”
กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมรับการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ไว้ 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 17 – 31 พฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 11 วันทำการ และช่วงเปิดภาคเรียน โดยในช่วงเตรียมเปิดภาคเรียน ขอให้สถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา เตรียมความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ การจัดการเรียนการสอนทั้งออนไลน์ – ออฟไลน์ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน อีกทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าบุตรหลานของทุกคนจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์ทำในระหว่างรอการเลื่อนเปิดเรียน
ทั้งนี้ อาจเป็นกิจกรรมเสริมให้แก่ผู้เรียนด้วยระบบออนไลน์ หรืออาจเป็นกิจกรรมไปเยี่ยมที่พักอาศัยสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์จะมีคลังสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ แขวนไว้บนเว็บไซต์ของ ศธ. (MOE LEARNING PLATFORMS) โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนสื่อการเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มาร่วมบรรยายให้ความรู้ภายใต้กิจกรรมที่มีชื่อว่า “เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้” กำหนดจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 12 – 25 พฤษภาคม 2564 แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่ 1 เรียนรู้เพื่อการสอน ระหว่างวันที่ 12 – 17 พฤษภาคม 2564
- ช่วงที่ 2 สอนเพื่อการเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2564
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับเสริมสมรรถนะครูซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM เรื่อง การพัฒนางานด้านวิชาการในโรงเรียนเอกชน ภายใต้โครงการพัฒนาหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้การวัดและประเมินผล ระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2564
รายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
- การเบิกจ่ายในภาพรวม จำแนกเป็น 5 งบรายจ่าย สามารถใช้จ่ายได้ร้อยละ 50.95 เป้าหมายกำหนดร้อยละ 61.66 เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 10.71
- ภาพรวมรายจ่ายลงทุน (ประกอบด้วย งบลงทุน และงบเงินอุดหนุน) เป้าหมายสะสม ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 ร้อยละ 51.66 ผลการใช้จ่ายร้อยละ 31.62 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 20.04
ข้อสังเกตจากการตรวจสอบและแนวทางการแก้ไขการปฏิบัติงานด้านการเงิน การคลัง และการดูแลรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564
กลุ่มตรวจสอบภายใน ได้ดำเนินการสรุปข้อสังเกตจากการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลัง และการดูแลรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานศึกษาธิการภาค ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 เพื่อให้ผู้บริหารผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ โดยแบ่งข้อสังเกตออกเป็น 8 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ด้านการเบิกจ่าย พบว่า ไม่มีการแนบใบเสร็จรับเงิน/ใบสำคัญรับเงินประกอบการเบิกจ่าย การเบิกค่าที่พักไม่เป็นไปตามระเบียบกำหนด มีการเบิกจ่ายค่าจัดงานโดยไม่ขออนุมัติเบิกจ่าย การเบิกค่าเช่าบ้านไม่เป็นไปตามระเบียบ การเบิกค่าโทรศัพท์ทางไกลไม่แนบหลักฐานคุมการใช้โทรศัพท์ทางไกล
- ด้านการบริหารการเงินการคลัง พบว่า การทำคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และการกำกับดูแลทางการเงิน การคลังของส่วนราชการยังไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน
- ด้านการบัญชี พบว่า รายงานการเงินของหน่วยงานไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบันไม่มีการทำรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ไม่จัดทำงบเทียบยอดเงินฝากธนาคาร ส่งรายงานประจำเดือนไม่ครบถ้วน
- ด้านลูกหนี้เงินยืม พบว่า การทำสัญญายืมเงินไม่ถูกต้อง การส่งใช้หนี้เงินยืมล่าช้า
- ด้านเงินทดรองราชการด้านรถราชการ พบว่า การบันทึกรายการในทะเบียนคุมเงินทดรองราชการไม่ถูกต้อง ไม่มีการจัดทำรายงานฐานะเงินทดรองราชการ ไม่ได้นำรายการดอกเบี้ยเงินทดรองราชการมาบันทึกรายการรับและนำส่งรายได้แผ่นดิน
- ด้านรถราชการด้านรถราชการ พบว่า หน่วยงานไม่ได้จัดทำบัญชีรถราชการ/สมุดแสดงรายการซ่อมบำรุงรถ การทำใบขออนุญาตใช้รถส่วนกลางไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุทะเบียนรถที่ขอ หน่วยงานมีการจัดทำทะเบียนควบคุมการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด และบางแห่งไม่ได้จัดทำทะเบียนควบคุม หรือจัดทําแต่ไม่เป็นปัจจุบัน
- ด้านวัสดุ พบว่า หน่วยงานมีการจัดทำบัญชีวัสดุโดยไม่แยกประเภทของวัสดุตามที่กำหนดมีการบันทึกรายการ รับ-จ่ายบัญชีวัสดุไม่ถูกต้องครบถ้วน และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงบัญชี วัสดุคงคลังในระบบ GFMIS และไม่ได้จัดทำรายงานวัสดุคงเหลือ รวมถึงไม่ได้จัดทำสารบัญ หรือดัชนีของบัญชีวัสดุและบัญชีวัสดุแต่ละแผ่นควบคุมวัสดุมากกว่า 1 รายการ
- ด้านครุภัณฑ์ พบว่า การจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินไม่เป็นปัจจุบันและไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด และจัดทำรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวครุภัณฑ์ ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน
อิชยา กัปปา / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ
ใส่ความเห็น