ศธ.ประชุม คกก.ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น

28 เมษายน 2566 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็ประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ.

ผลการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ภายหลังจากที่ได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นเมื่อปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยประสานงานหลักด้านการศึกษาของอาเซียนได้จัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนปฏิญญาดังกล่าว โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้

ปี 2563 ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการศึกษาในอาเซียนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งได้รวบรวมปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนแผนและการดำเนินงานตามปฏิญญาต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ โดยผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานและผู้ที่สนใจ จำนวน 1,000 เล่ม

ปี 2564 ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาในภูมิภาคของประเทศไทยภายใต้ประเด็นสำคัญของอาเซียน ในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ 1) พื้นที่สูงภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย 2) พื้นที่เกาะแก่ง จังหวัดพังงา 3) พื้นที่ชายขอบ จังหวัดกาญจนบุรี และ 4) พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี โดยพบปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบและได้รับการศึกษามาจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ 1) สภาพเศรษฐกิจ 2) สังคมและสิ่งแวดล้อม 3) การเดินทางและการสื่อสาร 4) การขาดแคลนอุปกรณ์ 5) ครอบครัว 6) ครู 7) ผู้เรียน และ 8) สถานศึกษา ทั้งนี้สถานศึกษาในแต่ละพื้นที่มีความพยายามในการเก็บข้อมูลเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาและนำเข้าสู่ระบบการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดการศึกษาแบบผสมผสานเรียนในระบบผนวกกับการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น มุ่งเน้นรายวิชาพื้นฐานที่พัฒนาทักษะอาชีพ เลือกเรียนตามความถนัด ความสนใจและศักยภาพของตนเอง ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ การฝึกทักษะวิชาชีพ การให้ทุนการศึกษา การช่วยเหลือและ
ประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสายสามัญ สายอาชีพและการศึกษานอกระบบ เป็นต้น

ปี 2565 ได้ดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น และสร้างเครือข่ายระหว่างภาคีเครือข่ายที่ดำเนินการด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ที่ประชุมได้มีการมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหา ความท้าทายและแนวทางการแก้ไข รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เกิดจากประเด็นด้านสังคมสภาพแวดล้อม ครอบครัว เศรษฐกิจ โรงเรียน โดยเฉพาะตัวเด็กนักเรียน การจัดการศึกษาในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กเนื่องจากวิธีการ จัดการเรียนการสอนไม่มีความหลากหลาย รวมทั้งแนวทางการวัดและประเมินผล สิ่งสำคัญคือปัจจัยพื้นฐาน ทางครอบครัว ฐานะผู้ปกครองยากจน นักเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การย้ายที่อยู่ ซึ่งรวมถึงช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน ตลอดจนความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิด 19
  • แนวทางการแก้ไขปัญหาในภาพรวมควรต้องมีการบูรณาการและเชื่อมโยงการจัดเก็บข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อไม่ให้ข้อมูลมีการกระจัดกระจาย สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐาน และให้การเก็บข้อมูลมีความต่อเนื่องและเป็นระบบ
  • แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม ได้แก่
    1)กลุ่มเด็กตกหล่น/เด็กนอกระบบการศึกษา การนำระบบสารสนเทศ และแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
    2) กลุ่มเด็กเสี่ยงออกกลางคัน มีการปรับหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน และการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพให้กับเด็กเพื่อการมีอาชีพทำให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
    3) กลุ่มเด็กออกกลางคัน เด็กที่อยู่ในสถานพินิจเนื่องจากคดียาเสพติด หลังจากได้รับการเรียนต่อจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งสามารถต่อยอดการศึกษาและเพิ่มขีด ความสามารถ และจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อให้คำปรึกษาแก่เด็กในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งมีนักสังคมสงเคราะห์เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้นำสรุปผลการดำเนินงานไปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นของอาเซียน รวมทั้งการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนในเดือนตุลาคม 2565 เพื่อทราบเรียบร้อยแล้ว

เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นและการติดตามผลการดำเนินงาน

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ภายหลังจากการดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ในปี2565 ไปแล้ว ในปีนี้จึงได้มีการของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นและการติดตามการดำเนินงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำกลไกและแผนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดนำร่องเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศและพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่อง

ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อให้เกิดกลไกและแผนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดนำร่อง เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงเห็นชอบให้มีจังหวัดนำร่อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นและการติดตามการดำเนินงาน ดังนี้

  • พื้นที่นำร่องจากการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาในภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้ประเด็นสำคัญของอาเซียนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ปัตตานี และพังงา
  • โครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กับเข้าสู่ระบบการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ปัตตานี นครพนม และอุบลราชธานีโดยจะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 2 วัน เพื่อจัดทำกลไกและแผนการดำเนินงานในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: