ผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และคณะกรรมการคุรุสภา เข้าร่วมประชุม
ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา
ที่ประชุมเห็นชอบ ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา จำนวน 3 แห่ง รวมจำนวน 5 หลักสูตร ที่มีการจัดการเรียนการสอนในที่ตั้งของสถาบันเท่านั้น ดังนี้
- ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 2 แห่ง 3 หลักสูตร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 1 แห่ง 1 หลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม
- ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 1 แห่ง 1 หลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรองแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงแผนการรับนักศึกษา ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 1 แห่ง 4 หลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เห็นชอบผู้ผ่านเกณฑ์ฯ ประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน 18,343 คน เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น
ที่ประชุมให้การรับรอง ผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 3/2566 ตามมติคณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 และครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 และการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ตาม ร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 3/2566 จำนวน 18,343 คน ดังนี้
- หลักสูตรปริญญาตรีทางการศึกษา จำนวน 16,406 คน
- หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 1,672 คน
- หลักสูตรปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 264 คน
- ปริญญาที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ จำนวน 1 คน
ทั้งนี้ ผู้ผ่านเกณฑ์ทั้ง 18,343 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิต/นักศึกษา ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นได้ทันที
เห็นชอบให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติการวิชาชีพบริหารสถานศึกษาตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรอง
ที่ประชุมเห็นชอบ ให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติการวิชาชีพบริหารสถานศึกษา ตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรอง ของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 2 สถาบัน รวมจำนวน 3 คน ดังนี้
- วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 4 จังหวัดตรัง จำนวน 1 คน
- มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยนาท รวมจำนวน 2 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน และการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรอง ของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 3 สถาบัน รวมจำนวน 22 คน ดังนี้
- มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุโขทัย จำนวน 6 คน
- มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ประกอบด้วย ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมจำนวน 14 คน
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 2 คน
เห็นชอบกฎบัตรคณะอนุกรรมการตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (ฉบับใหม่)
ที่ประชุมเห็นชอบ “กฎบัตรคณะอนุกรรมการตรวจสอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา” (ฉบับใหม่)” เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่กำหนดให้ “คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง”
สาระสำคัญ ตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายใน สำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ กำหนดให้ “คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง”
กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือมายังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เรื่อง การจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ และกฎบัตรของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ได้กำหนดกรอบการจัดทำกฎบัตรเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปปรับใช้ในการจัดทำกฎบัตรของหน่วยงาน ดังนี้
- การระบุเนื้อหาในกฎบัตร ควรประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อย ดังนี้ 1) กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบ วาระการดำรงตำแหน่ง องค์ประชุมและการลงมติ การปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบ หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบในด้านต่าง ๆ และการรายงานต่อคณะกรรมการ
- การให้ความเห็นชอบกฎบัตรจากผู้มีอำนาจ กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ ต้องได้รับความเห็นชอบจากการประชุมของคณะกรรมการของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการแก้ไขข้อความในกฎบัตรต้องผ่านความเห็นชอบ
- การลงนามในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ลงนามเห็นชอบ ได้แก่ ประธานกรรมการของคณะกรรมการของหน่วยงานของรัฐ ประธานกรรมการของคณะกรรมการตรวจสอบ และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ












ใส่ความเห็น