มติคณะรัฐมนตรี (11 เมษายน 2566) รับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565) และเสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป
ด้านการศึกษา มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด โดยมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 541 สถานศึกษา
สำหรับรายงานความคืบหน้าฯ ครั้งที่ 18 รอบเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 เป็นรายงานความคืบหน้าฯ รอบสุดท้าย นับแต่แผนการปฏิรูปประเทศประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 และได้มีการปรับปรุงและประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบดำเนินการในการสร้างรากฐานของประเทศในช่วง 5 ปีแรกที่ได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ และเกิดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งปรับเปลี่ยน ยกเลิก กระบวนการ และกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (27 กันยายน 2565)
สรุปผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน
สศช. ได้รวบรวมและประมวลผลข้อมูลการดำเนินการปฏิรูปประเทศและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้ง 13 ด้าน จากข้อมูลที่หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน/โครงการผ่านระบบติดตามและประเมินแห่งชาติ (eMENSCR) พบว่า การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน มีผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลตามมาตรา 258 อันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญฯ แล้วสรุปได้ดังนี้
- ด้านการเมือง มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำชุดความรู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือ จัดทำเป็นหลักสูตร และมีการออกแบบสื่อการเรียนการสอน (Tool kit) สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งมีการนำหลักสูตรดังกล่าวไปเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ผ่านศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และจัดให้มีแอปพลิเคชัน Smart Vote Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง
- ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการ มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของการทำงานและการให้บริการของภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยปัจจุบันมีงานบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวม 343 บริการ มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชน Citizen Portal ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และแพลตฟอร์มกลางสำหรับภาคธุรกิจผ่านเว็บไซต์ (www.bizportal.go.th)
- ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียด รอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
- ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ในการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า จัดให้มีทนายความอาสาให้คำปรึกษาในสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 203 สถานี และจัดให้มีการให้คำปรึกษาทางกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งจัดให้มีระบบการปล่อยตัวชั่วคราวได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเพื่อให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรม เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมยิ่งขึ้น
- ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีระบบภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยมีระบบการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ (e-Filling) และมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ. FTA เพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และกองทุน FTA เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐที่สำคัญในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
- ด้านสาธารณสุข มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC : Primary Care Cluster ซึ่งเป็นระบบที่มีทีมหมอครอบครัวดูแลประชาชนจำนวน 10,000 คนต่อทีม สามารถให้บริการประชาชนได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีระบบโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และได้รับบริการเหมือนกับการรับบริการที่โรงพยาบาล
- ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center : AFNC) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Website Line และ Facebook รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม
- ด้านสังคม มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยได้กระจายที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้วจำนวน 1,442 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกินรวม 69,368 ราย
- ด้านพลังงาน มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) เพื่อปรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และปรับกระบวนการอนุมัติโครงการภาครัฐและเอกชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนทางด้านพลังงานของประเทศ และลดต้นทุนที่เกิดจากระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal) และมีระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ รวมทั้งมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Management System : WMS) แบบครบวงจร โดยได้เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันมีผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 76 เรื่อง เป็นการแจ้งแบบปกปิดตัวตน จำนวน 66 เรื่อง และเป็นการแจ้งแบบปิดเผยตัวตน จำนวน 10 เรื่อง
- ด้านการศึกษา มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด โดยมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 541 สถานศึกษา
- ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ นครราชสีมา และเชียงราย และการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลายพื้นที่ เช่น ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา ย่านเจริญเมือง จังหวัดแพร่ รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เช่น ชุมชนแหลมสัก จังหวัดกระบี่ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย
สรุปผลการดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายการปฎิรูปประเทศ
แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) | จำนวนกฎหมาย (ฉบับ) | อยู่ระหว่างการดำเนินการ | แล้วเสร็จ | |||
หน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย | สลค. พิจารณาเพื่อเสนอ ครม. เห็นชอบหลักการ | สคก. ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมาย | รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ | |||
1. ด้านการเมือง | 2 | 1 | 1 | |||
2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน | 2 | 1 | 1 | |||
3. ด้านกฎหมาย | 5 | 1 | 1 | 1 | 2 | |
4. ด้านกระบวนการยุติธรรม | 1 | 1 | ||||
5. ด้านเศรษฐกิจ | 7 | 2 | 1 | 1 | 3 | |
6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | 1 | 1 | ||||
7. ด้านสาธารณสุข | 1 | 1 | ||||
8. ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ | 2 | 2 | ||||
9. ด้านสังคม | 4 | 2 | 1 | 1 | ||
10. ด้านพลังงาน | 8 | 7 | 1 | |||
11. ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ | 10 | 6 | 2 | 1 | 1 | |
12. ด้านการศึกษา | 1 | 1 | ||||
13. ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ | 1 | 1 | ||||
รวมจำนวนกฎหมาย (ฉบับ) | 45 | 22 | 7 | 3 | 3 | 10 |
การดำเนินการในระยะต่อไป
หลังจากแผนการปฏิรูปประเทศสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการจะต้องนำประเด็นปฏิรูปประเทศมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 (ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ) แผนระดับที่ 3 (ได้แก่ แผนปฏบัติราชการ และแผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงาน/โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐในแต่ละปีงบประมาณโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ) และการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานตามแนวทางการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนปฏิรูปประเทศตามคณะรัฐมนตรี (27 กันยายน 2565)
โดยมีมติรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 รวมทั้ง สศช. ได้เชื่อมโยงประเด็นปฏิรูปประเทศกับเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายระดับหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินการขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลการดำเนินการในประเด็นการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่องและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ออกแบบกราฟิก/รายงาน
ใส่ความเห็น