5 เมษายน 2566 – นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกรอบเนื้อหารายวิชาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2566 โดยมี นางพรรณทิพา ชินชัชวาล ที่ปรึกษาด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้บริหารหน่วยงาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 4 – 7 เมษายน 2566 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ตัน ดินแดง กรุงเทพฯ
นายคมกฤช จันทร์ขจร กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 โดยมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ทำให้ต้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2566 เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 จะมีผลใช้บังคับ ส่งผลให้พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และการใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นอันสิ้นสุดลง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับบทบัญญัติตามข้อกฎหมาย ประกอบกับห้วงเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. ได้มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ดำเนินการจัดประชุมเพื่อจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. และได้พิจารณารับรองหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2566 เมื่อวันที่ 13 – 15 มีนาคม 2566 นั้น
เพื่อให้การดำเนินการจัดทำหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2566 สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 สำนักงาน กศน. จึงกำหนดจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกรอบเนื้อหารายวิชาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2566 ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ สาระวิชาภาษาไทย สาระวิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) สาระวิชาคณิตศาสตร์ สาระวิชาวิทยาศาสตร์ สาระวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล สาระวิชาการงานอาชีพ สาระวิชาสุขภาวะและศิลปะ สาระวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง รวมทั้งจัดทำคู่มือ/แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน ร่วมกับ สสวท. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การออกแบบจัดทำกรอบเนื้อหารายวิชา ได้มอบนโยบายให้คำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม เหตุการณ์ปัจจุบันต่างๆ ที่เกิดขึ้นสังคมและบริบทของการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงการพิจารณาให้ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตเป็นฐาน และเนื้อหารายวิชาต้องให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ตลอดจนการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ อย่างครอบคลุม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวิถีชีวิตของผู้เรียน เพราะการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง และรองรับสู่การเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพต่อไป









ใส่ความเห็น