บอร์ดการศึกษาเอกชน เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ อุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียนเอกชน และกำหนดจัดงานวันการศึกษาเอกชน ปี 66

บอร์ดการศึกษาเอกชน โดย รมว.ศธ. “ตรีนุช” เป็นประธาน เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน รวมทั้งรับทราบการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566 ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ 30 มกราคม 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ ว่าที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติ ดังนี้

เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ การอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน

ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ อาทิ

  • คุณสมบัติของโรงเรียนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ต้องเป็นโรงเรียนการกุศล หรือโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไปที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล และต้องไม่เป็นโรงเรียนการศึกษาพิเศษที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรานักเรียนพิการ
  • คุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ต้องเป็นนักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในระดับก่อน-ระดับประถมศึกษา, เป็นนักเรียนที่ได้ลงทะเบียนและเรียนอยู่จริงถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจัดตั้งหรือตราสาร, เป็นนักเรียนในโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไปที่มีปัญหาทุพโภชนาการ (น้ำหนักและส่วนสูงไม่เป็นไปตามเณฑ์มาตรฐานของแต่ละช่วงวัย เกิดจากสภาวะของร่างกายได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย : เตี้ย อ้วน ผอมเกินไป) หรือขาดแคลนอาหารกลางวัน และต้องไม่เป็นนักเรียนพิการที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรานักเรียนพิการ
  • อัตราเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 อนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก-ป.6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ จำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน, จำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน, จำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน, จำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน

เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ครั้งที่ 1/2565 ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ ที่ได้ร่วมกันยกร่างไว้เดิม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ ในเรื่อง One Stop Service ครูต่างชาติ นักเรียนต่างชาติ Big Data ระบบฐานข้อมูลโรงเรียน, การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร, การปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ในเรื่องร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่, การพัฒนาผู้บริหาร ครู ผู้สอน บุคลากร นักเรียน ในเรื่องการขับเคลื่อนกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ, การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การประกันคุณภาพภายใน และยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมเครือข่ายและความร่วมมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพอาชีวศึกษา พัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ สช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ในการรับฟังข้อเสนอแนะของโรงเรียนในสภาวการณ์ในปัจจุบัน เป็นการสนับสนุนส่งเสริมได้ตรงตามความต้องการของโรงเรียน 3 คณะ ได้แก่คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบในสภาวการณ์ปัจจุบันและสภาวการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต, คณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ระบบการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารโรงเรียน, คณะทำงานยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่งานด้านวิชาการและคุณภาพเพื่อสามารถสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ร่วมกันยกระดับขับเคลื่อนงานการศึกษาเอกชนในภาพรวมต่อไป

รับทราบการเตรียมการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566

ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2461 และนับแต่นั้นมาจึงได้กำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันการศึกษาเอกชน” ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมทางการศึกษา ครูและผู้สอนโรงเรียนเอกชนได้เผยแพร่ผลงานด้านการศึกษาสู่สาธารณชน รวมถึงนักเรียนและผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถตามศักยภาพ และมีการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งตรงกับนโยบายและเป้าหมายของ ศธ.ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน

ในปี 2566 สช.กำหนดจัดงานใน 5 ภูมิภาค ดังนี้

  • ภาคตะวันออก วันที่ 4 – 5 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมทวารดี / โรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทองในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดปราจีนบุรี
  • ภาคกลาง วันที่ 17 – 18 ก.พ. 2566 ณ โรงเรียนวินิตศึกษา / หอประชุมวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี จังหวัดลพบุรี
  • ภาคเหนือ วันที่ 18 – 19 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ปารีสอร์ท / มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดลำพูน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 24 – 25 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู
  • ภาคใต้ วันที่ 25 – 26 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมพาราไดซ์แอนด์รีสอร์ท หาดใหญ่ / มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาทางวิชาการ การแสดงนิทรรศการ การแข่งขันทักษะทางวิชาการของนักเรียน การยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษาเอกชน และนักเรียนผู้สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ คาดว่าจะมีผู้บริหาร ครู ผู้สอน และนักเรียนโรงเรียนเอกชน รวมถึงผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานภูมิภาคละประมาณ 2,000 คน

การประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมทั้งออนไซต์และออนไลน์ อาทิ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพิเศษ, ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

การประชุมครั้งถัดไป (ครั้งที่ 2/2566) จะจัดประชุมในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: