กระทรวงศึกษาธิการ 26 มกราคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม
ปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ศธ. เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้องค์กรหลักและสถานศึกษาในสังกัดสามารถปฏิบัติตามระเบียบและประกาศกระทรวงศึกษาธิการ บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับการกำหนดนโยบายและจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา การเสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นอันประโยชน์ต่อการดำเนินการ ภายใต้ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รวมทั้งกฎ ระเบียบ ประกาศของกระทรวง รวมไปถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของจุดเน้นเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ศธ. ประจำปี 2566-2570 ตามความสอดคล้องของจุดเน้นเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน คือ นักเรียนและนักศึกษามีความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษาระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านจุดเน้นเชิงนโยบาย 4 เรื่อง ดังนี้
- สร้างและส่งเสริมระบบการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัย พัฒนาระบบความปลอดภัยทุกมิติ จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังเพื่อรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในระดับกระทรวงและระดับจังหวัด
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา เช่น ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
- สนับสนุนและยกระดับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ เช่น ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งหน่วยสื่อสารองค์กร พัฒนาฐานข้อมูลการส่งเสริมความประพฤติฯ ในทุกมิติ เป็นต้น
- ขยายผลแนวทางเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมความประพฤติฯ ระดับจังหวัด โดยจัดทำหลักสูตร คู่มือ รูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ สร้างต้นแบบบุคคลผู้มีความประพฤติดี และเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์อย่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องของการเพิ่มประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ให้ทันสมัย การเปิดพื้นที่ On-site ให้เยาวชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ การสร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การติดตามและประเมินผลของการปฏิบัติงาน เป็นต้น
“ข้อมูลเหล่านี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำไปทบทวนปรับปรุงการกำหนดจุดเน้นเชิงนโยบาย เพื่อการขับเคลื่อนการส่งเสริมความประพฤติฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาในครั้งต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าว







ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์/ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น