กระทรวงศึกษาธิการ 26 มกราคม 2566 – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการดูแล ช่วยเหลือผู้รับทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ครั้งที่ 1/2566
รองปลัด ศธ. เปิดเผยหลังการประชุมว่า ได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงาน สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ รวมถึงครูผู้ดูแลผู้รับทุนการศึกษา ให้ช่วยดูแลผู้รับทุนการศึกษาอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ และเป็นระบบ หากพบความเสี่ยงให้รีบประสานกับต้นสังกัดส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และเห็นควรให้ทบทวนการปฐมนิเทศหรือให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี เพื่อให้ผู้รับทุนการศึกษาได้ทราบคุณสมบัติที่พึงประสงค์ หน้าที่ และสิทธิของตนเอง รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพวะให้ผู้รับทุนการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม เสริมสร้างความรู้ทางวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมศักยภาพในการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต
นอกจากนี้ ควรมีมาตรการ การกำหนดหลักเกณฑ์ “ติดตาม กำกับ ดูแล แก้ปัญหา มีคณะทำงาน” ครูคอยแนะนำการใช้เงินทุนเพื่อการศึกษา รวมถึงดูแลเรื่องการเรียน ให้เด็กมีผลการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคู่มือ เด็กๆ ต้องรายงานสถานภาพหลังจบการศึกษาทุกภาคเรียน เพื่อรับจัดสรรทุนการศึกษาในปีถัดไป กรณีการรับสมัคร คัดเลือก โอนจัดสรรทุน เรียกบัญชีสำรอง ระงับสิทธิ์ ระงับทุนการศึกษา ให้แต่ละหน่วยงานวินิจฉัยตามดุลยพินิจ หากไม่ขัดต่อคู่มือและแนวปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้ทันที
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการดูแลช่วยเหลือผู้รับทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2560-2565 จำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 600 ทุน รวมทั้งสิ้น 3,600 คน/รูป แยกเป็นสังกัด ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,150 คน
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 5,860 คน
- สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 1,765 รูป
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 1,227 คน
- สถาบันพระบรมราชชนก จำนวน 30 คน
“โครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี เป็นการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา และสามเณร ที่มีฐานะยากจนในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีอัตราการเรียนต่อต่ำ ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบระดับปริญญาตรี ตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับและพัฒนาประเทศไปสู่การแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้อย่างมีคุณภาพ”
เกี่ยวกับโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี
ระยะที่ ๑ ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ และสิ้นสุดโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยดำเนินการจัดสรรทุนการศึกษา จำนวน ๔๘๐ ทุนต่อปี รวมทั้งสิ้น ๑๐ รุ่น จำนวน ๔,๘๐๐ ทุน
กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานในการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา และสามเณรที่ด้อยโอกาส ด้วยการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๒ จำนวนรุ่นละ ๖๐๐ ทุนต่อปี จำนวนทั้งสิ้น ๑๐ รุ่น รวมทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ ทุน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๗ ระยะเวลา ๑๗ ปีการศึกษา (๑๘ ปีงบประมาณ) รวมงบประมาณทั้งสิ้น ๑,๙๑๑,๒๕๐,๐๐๐บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยสิบเอ็ดล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
อัตราการให้ทุนการศึกษา
• ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๒๕,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี
• ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ๓๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี
• ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ๕๕,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี
• ระดับปริญญาตรี ๕๕,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี






พบพร ผดุงพล / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ /ภาพ
ใส่ความเห็น