กระทรวงศึกษาธิการ 25 มกราคม 2566 / นายปรีดี ภูสีน้ำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมชี้แจงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมด้วยนางธรรมพร แข็งกสิการ รองศึกษาธิการภาค 13 (นครราชสีมา) ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 4 (สมุทรสงคราม), นางจิตฤดี ขวัญพุฒ รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต ศธ. ตลอดจนผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานภายใน สป.ศธ.ส่วนกลางซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ITA เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอภัย จันทวิมล อาคารเสมารักษ์ โดยมีผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานภายใน สป.ศธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนกลางในภูมิภาคที่ร่วมดำเนินการ ITA เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
นายปรีดี ภูสีน้ำ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐเครื่องมือหนึ่ง เป็นเครื่องมือในเชิงบวกที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิด เปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี
เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร ผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการ สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาครัฐ
โดยปี 2565 มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมการประเมิน ITA ทั้ง 8,323 หน่วยงาน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้าร่วมมากที่สุด 5,300 หน่วยงาน
ดังนั้น การประเมิน ITA จึงไม่ได้เป็นเพียงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน เพื่อให้ทราบถึงช่องว่างของความไม่เป็นธรรมและความด้อยประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานภาครัฐจะได้สำรวจและประเมินตนเอง เพื่อได้รับทราบข้อมูลอันส่งผลให้เกิดความตระหนักเพื่อปรับปรุงการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และให้ความสำคัญกับด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรตนเองมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การประเมิน ITA ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของหน่วยงานภาครัฐในทางปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองให้ทันสมัย ประกอบด้วย 3 แบบวัดคือ 1. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) 2. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) และ 3. แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) จำนวน 10 ตัวชี้วัด
“สำหรับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) สป.ศธ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในภาพรวมได้คะแนนร้อยละ 87.30 อยู่ในระดับผลการประเมิน A ซึ่งถือว่ามีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูง จากผลการวิเคราะห์พบว่าคะแนนรายตัวชี้วัดสูงสุดคือตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล 100 คะแนนเต็ม ทั้งนี้ สป.ศธ.ต้องเร่งปรับปรุงในด้านคะแนนรายตัวชี้วัดต่ำสุด 3 อันดับ คือ ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร 76.31 คะแนน ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงการทำงาน 76.91 คะแนน และตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน 78.77 คะแนน”









อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ใส่ความเห็น