รมว.ศธ. “ตรีนุช” เป็นประธานลงนามความร่วมมือสถานประกอบการ 38 แห่ง เตรียมความพร้อมการผลิตและพัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ EV (Electric Vehicle) พร้อมปรับปรุงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย เริ่มในสถานศึกษานำร่อง 51 แห่งทั่วประเทศ
22 ธันวาคม 2565, วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV OVEC ZERO Emission) พร้อมด้วยนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. โดยมีนายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้บริหารสถานประกอบการเกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ 38 แห่ง เป็นผู้แทนลงนาม
รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในตลาดยานยนต์และช่วยลดมลพิษการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนอากาศในระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย
โดยสำรวจความต้องการแรงงานของตลาด และวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและมีทักษะสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย มีสถานศึกษานำร่อง 51 แห่งทั่วประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการนักเรียนนักศึกษาที่มีความรู้ด้านรถยนต์ Electric Vehicle (EV) จำนวนมากของกระทรวงอุตสาหกรรม
“สิ่งสำคัญ สอดคล้องกับถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในงานประชุมสุดยอดผู้นำโลก (World Leader Summit) บนเวที COP26 (Conference of Parties : การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ประกาศเจตนารมณ์ในความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง โดยใช้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 หรือ NDC) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593”

เลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง สอศ. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและสถานประกอบการทั้ง 38 แห่ง โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ รมว.ศธ. ที่สนับสนุนให้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่ง สอศ. ตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และนักเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพความเป็นเลิศทางวิชาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบัน
“สอศ.จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสถานประกอบการทั้ง 38 แห่ง จัดทำแผนขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะด้านรถยนต์สมัยใหม่ ตามบริบทและความพร้อมของสถานประกอบการและวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งพัฒนาทักษะครูผู้สอน และสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนส่งเสริมการสร้างทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าของนักศึกษาอาชีวะในรูปแบบการสอนและการฝึกประสบการณ์ระบบทวิภาคีต่อไป”
















อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ
ใส่ความเห็น