ตัวแทนศึกษาธิการจังหวัด นำโดยนายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี เข้าพบ รมว.ศธ. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ตามมาตรา 3 (10) ขอให้หารือประเด็นนี้อย่างละเอียด เพราะอาจกระทบต่อศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค โครงสร้าง บุคลากร และสวัสดิการต่าง ๆ
7 ธันวาคม 2565, ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการศึกษาธิการ / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับหนังสือจากตัวแทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในประเด็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่จะมีการยกเลิกสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และนายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ.เข้าร่วม

รมว.ศธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ มีความสำคัญเหมือนเป็นธรรมนูญการศึกษาที่รัฐบาลใช้เวลากว่า 5 ปี ในการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยพยายามที่จะแตะโครงสร้างน้อยที่สุด เป้าหมายคือ เน้นการพัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัย ขณะนี้อยู้ในขั้นตอนการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ต้องรับเสียงสะท้อนจาก ศธจ. ในบางประเด็น ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ หากยกเลิกในบางมาตรา อาจจะทำให้หน่วยงานถูกยุบ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ใหญ่มาก เพราะการบูรณาการในระดับภาคและพื้นที่อาจหายไป ไม่ว่าจะเป็นศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค โครงสร้าง บุคลากร และสวัสดิการต่าง ๆ
ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ มีเป้าหมายที่จะจัดการศึกษาให้สอดรับกับบริบทพื้นที่ ข้อกังวลของ ศธจ. ในมาตรา 3 (10) และอีกหลายมาตรา ทางสภาการศึกษาจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปชี้แจงต่อกรรมธิการฯ อีกครั้ง เพื่อทบทวนในประเด็นต่างๆ ให้เหมาะสม ให้โครงสร้างและกลไกต่าง ๆ ยังคงอยู่ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
“ทั้งนี้ ศธจ.ยังมีความจำเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย เป็นหน่วยงานบริการที่เชื่อมโยงการศึกษาในทุกมิติของจังหวัด มีการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด จึงถือเป็นกลไกและเครื่องจักรสำคัญที่มีความจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อที่จะช่วยกันบูรณาการจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาในพื้นที่ให้มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว
สำหรับข้อกังวลที่ตัวแทน ศธจ.กล่าวในที่ประชุม เช่น มาตรา 3 (10) ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เพราะเมื่อคำสั่งถูกยกเลิก คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ก็ถูกยกเลิกไปด้วย กระทบไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในคณะดังกล่าว อีกทั้งในบทเฉพาะกาล ไม่มีมาตราใดรองรับอำนาจหน้าที่ของ ศธจ. เป็นเหตุให้ ศธจ./ศธภ. ถูกยกเลิกทันที จึงมีความกังวลว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับก็ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ในวันนี้จึงได้นำรายชื่อของผู้ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ จำนวน 4,437 คน ยื่นต่อ รมว.ศธ. เพื่อพิจารณาต่อไป










พบพร ผดุงพล / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น