ปลัด ศธ.นำทีมกระทรวงศึกษาธิการไทย เข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 (45th SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM)

(30 พฤศจิกายน 2565) ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 วาระเฉพาะ (45th SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการไทย ระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้
– เลือกผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอคนใหม่
– พิจารณางบประมาณอุดหนุนการเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิกซีมีโอ
– รับ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสมทบของซีมีโอ
– โครงการคุณภาพการศึกษาแบบเรียนรวมของโรงเรียนชายแดนซีมีโอ (SEAMEO Border Schools Project)

การประชุมครั้งนี้ได้มีการติดตามการดำเนินงาน ตามมติที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) งบประมาณอุดหนุนการเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิกซีมีโอ แผนงานการดำเนินงานระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2569 การคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอคนใหม่แทนคนเดิมที่จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารของซีมีโอชุดใหม่แทนประเทศไทย และกัมพูชาที่จะหมดวาระในปี 2565 แผนงานของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ได้แก่ ศูนย์ซีมีโอไบโอทรอป ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด และศูนย์ซีมีโอเซล เป็นต้น

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการไ ด้ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ โดยที่ประประชุมได้เห็นชอบให้ Datuk Dr. Habibah binti Abdul Rahim อดีตอธิบดีศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการของประเทศมาเลเซีย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ แทน Dr.Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มีนาคม 2566

สำหรับการพิจารณางบประมาณอุดหนุนการเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิกซีมีโอ ได้มีการพิจารณาบนพื้นฐานของการคำนวณแบบใหม่ที่ดูศักยภาพของแต่ละประเทศในการจ่าย GDP ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ การส่งออก โดยอิงข้อมูลจาก IMF และ ADB ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ จะทำให้ประเทศไทยจ่ายค่าบำรุงสมาชิกลดลง อย่างไรก็ตามประเทศที่ได้รับผลกระทบคือ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ติมอร์-เลสเต และเวียดนามที่จะต้องจ่ายค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการหารือในรายละเอียดซึ่งจะมีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารของซีมีโอชุดใหม่แทนประเทศไทย และกัมพูชาที่จะหมดวาระในปี 2565 มีประเทศที่ได้รับการเสนอชื่อได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย สปป.ลาว ติมอร์เลสเต และเวียดนาม โดยประเทศที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ อินโดนีเซียและสปป.ลาว ซึ่งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี คือปี 2567-2568

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสมทบของซีมีโอ SEAOHUN ซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้าน One Health จำนวน 10 แห่ง จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมากกว่า 95 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่งจาก 4 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของศักยภาพแรงงานและสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความเป็นมืออาชีพด้าน One Health โดยมีทักษะและวิธีคิดที่ถูกต้อง มีความสามารถในการป้องกัน ตรวจสอบ และตอบสนองต่อภัยคุกคามจากโรคติดต่อ โดยการยกระดับการศึกษา การวิจัย และความเป็นเลิศด้านการฝึกอบรม โดยร่วมมือกับซีมีโอทรอปเมด เน็ตเวิร์ค และศูนย์ซีมีโอ สะเต็มเอ็ด

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอครั้งที่ 45 พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศรางวัลต่างๆ ขององค์การซีมีโอทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่

  • 2022 SEAMEO – Australia Education Links Award
    Theme: Building Back Better through Partnership
  • 2022 SEAMEO-Japan ESD Award
    Theme: Education Transformation through Partnership
  • The 1st Southeast Asian Educational Innovation Awards by SEAMEO Regional Centre for Educational Innovation and Technology (SEAMEO INNOTECH), Philippines

โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและองค์การซีมีโอในด้านการศึกษา โดยประเทศไทยจะให้การสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตาม 7 ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอและวาระการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าด้านการศึกษาของซีมีโอประเทศไทย ได้แก่ การส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา การเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อเผชิญกับสภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการเข้าถึงและตอบสนองด้านการศึกษาของซีมีโอ และโครงการคุณภาพการศึกษาแบบเรียนรวมของโรงเรียนชายแดนซีมีโอ (SEAMEO Border Schools Project) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอุปสรรคในการศึกษา โดยจะร่วมกับซีมีโอในการสนับสนุนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและการเข้าถึงทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน โดยผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะแรกสามารถสนับสนุนผู้เรียนกว่า 3 พันคนตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา และในอนาคตจะมีการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและองค์การซีมีโอในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากกว่า 140 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากประเทศสมาชิกซีมีโอ 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม (ยกเว้นติมอร์-เลสเต) ผู้แทนประเทศสมาชิกสมทบ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้แทนศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวมทั้งหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับเป็นเวทีกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑