บอร์ดการศึกษาเอกชน โดย รมว.ศธ. เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ทั้งการพัฒนาคุณภาพครู ผู้เรียน หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา พัฒนากฎระเบียบให้เอื้อต่อการศึกษาเอกชน
28 พฤศจิกายน 2565, ห้องประชุมราชวัลลภ / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 6/2565 ว่าที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติ ดังนี้
เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประเภทสามัญศึกษา
ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนของคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ที่ผ่านมาผลการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) 2018 ที่ผ่านมาพบว่า คะแนนของประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลกทุกด้าน เช่นเดียวกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่ผ่านมาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำมาก คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยกว่า 50 เกือบทุกวิชา และคะแนนเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ซึ่งอาจเป็นเพราะการจัดการเรียนการสอนและการประเมินในโรงเรียนที่เน้นการประเมินองค์ความรู้ แตกต่างกับการประเมินในระดับชาติที่เน้นประเมินสมรรถนะ ทำให้ผลการประเมินในระดับชาติมีผลคะแนนที่ไม่เป็นที่พอใจ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของนักเรียนต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากครูยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะขาดทักษะและความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
สช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับ ดูแล โรงเรียนเอกชนหลายประเภท จึงให้ความสำคัญและมีความตื่นตัวในการหายุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนให้มีมาตรฐานและคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนของโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา โดยสรุปทิศทางและเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งการพัฒนาคุณภาพครู ผู้เรียน ตลอดจนหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาโดยมุ่งการพัฒนากฎระเบียบที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาเอกชนและพัฒนารูปแบบหรือวิธีการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการพัฒนาสถานศึกษา
รับทราบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2566
ที่ประชุมรับทราบ นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2566 เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เด็กทุกคนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพ และเกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่จัดการศึกษาในพื้นที่
โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซักซ้อมแนวทางการรับนักเรียน ด้วยการแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานที่จัดการศึกษาในเขตพื้นที่ ไม่เกิน 3 คน เป็นคณะกรรมการรับนักเรียน ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนโรงเรียนเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการรับนักเรียนอย่างน้อย 1 คน พร้อมจัดทำแนวปฏิบัติการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอคณะกรรมการรับนักเรียน พิจารณาให้ความเห็นชอบ ขอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วม และผลกระทบของโรงเรียนเอกชนในการดำเนินการรับนักเรียน
รับทราบการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเอกชน
ที่ประชุมรับทราบ การดำเนินงานการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ตามมติ ครม. 8 พฤศจิกายน 2565 โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนโรงเรียนเอกชน 487,819 คน 1,782 โรงเรียน
สำหรับปีงบประมาณ 2566 สช.ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 2,048 ล้านบาท และเมื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องปรับตามอัตราใหม่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2,175 ล้านบาท ทำให้ยังขาดงบประมาณอีกกว่า 126 ล้านบาท ทั้งนี้ในเบื้องต้น สช.จะปรับแผนสำหรับค่าใช้จ่ายให้เพียงพอต่อไป
รับทราบการแก้ไขปัญหาการให้บริการโรงเรียนเอกชนในภูมิภาค
ที่ประชุมรับทราบ แนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการโรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาค แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- พัฒนาศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์ (PESCO) จำแนกเป็น 2 ระบบย่อย คือ ระบบจัดการข้อมูลชาวต่างประเทศในโรงเรียนเอกชน (PFS) และระบบยื่นเรื่องออนไลน์ (ORSS) โดยจะเริ่มทยอยเปิดให้ผู้รับบริการสามารถยื่นเรื่องทางออนไลน์ได้ ในเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป
- ดำเนินการการตัดโอนอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินอื่นที่เกี่ยวข้อง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปต้ังจ่ายในกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตามที่ที่ประชุมหารือการขอรับโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีมติให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่ว่างและมีเงินตำแหน่งครูผู้ช่วย จาก สพฐ.จำนวน 132 อัตรา มาสังกัด สช.เพื่อแก้ปัญหาในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน โดยให้ตำแหน่งที่ตัดโอนดังกล่าว ไปกำหนดไว้ในตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด กศน. ก่อนนั้น
ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ ในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2564 เห็นชอบให้ สำนักงาน กศน. ตัดโอนอัตราเงินเดือนฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย 79 อัตรา มากำหนดอัตราเงินเดือนให้แก่ สช.จังหวัด (สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) 56 อัตรา กลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศธจ. 23 อัตรา คงเหลือตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด กศน.ที่ฝากไว้ 53 อัตรา ทั้งนี้ สช.ได้ประสาน สป. ว่าปัจจุบันกรอบอัตรากำลังของกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศธจ. มี 398 อัตรา มีผู้ถือครอง 260 อัตรา ว่างแต่มีอัตราเงินเดือน 34 อัตรา ว่างแต่ไม่มีเงิน 104 อัตรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการบรรจุแต่งตั้งให้ครบตามกรอบอัตรากำลังต่อไป

การประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการ สกศ., นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ., นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพิเศษ, ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
โดยการประชุมครั้งถัดไป (ครั้งที่ 7/2565) จะจัดประชุมในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565









อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ-กราฟิก
ใส่ความเห็น