(11 พฤศจิกายน 2565) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยการอาชีพไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามการจัดการเรียนรู้ Coding และนวัตกรรมการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับตลาดแรงงานยุค VUCA World
ชมภาพทั้งหมด เฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา
โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดอาคารเรียน “ปทุมสราคาร” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนห้องเรียนและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียน พร้อมเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้สืบสานปณิธานท่านพุทธทาสภิกขุ “สวนโมกข์ สวนเมือง” และการจัดการเรียนการสอน coding ของโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
โดยได้กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสถานที่ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกว่าโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาการ จัดกิจกรรมการสอนที่มีความพร้อม และยังส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วยการปลูกฝังคุณธรรม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม เป็นการขยายการเรียนจาก STEM เป็น STEAM อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นว่าจะสามารถเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพของชาติได้เป็นอย่างดี

โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวกับผู้บริหารโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานีว่า ขอชื่นชมการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสังคม “ถุงสร้างรอยยิ้ม” รับรู้ร่วมทุกข์ แบ่งปันความสุขด้วยรอยยิ้ม ถวายพระสงฆ์อาพาธ และเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการเป็นผู้ให้ สร้างจิตสำนึกการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบนอกเหนือจากการเรียนในตำรา
โดย รมช.ศึกษาธิการได้ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ปัจจุบันในคาบเรียนจะให้เด็กเรียนประมาณ 35 นาที เวลาที่เหลือนั้นให้เด็กไปคิดวิเคราะห์ว่าจะนำความรู้ที่เรียนไปข่วยลดภาระทางบ้านได้อย่างไร ซึ่งเราควรนำมาปรับใช้มาก จึงฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ จากนั้นจึงได้เยี่ยมนิทรรศการผลงานของนักเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้ Learn เพลิน Unplugged Coding

วิทยาลัยการอาชีพไชยา
นายณรงค์ หวังอีน ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพไชยา กล่าวว่า วิทยาลัยการอาชีพไชยาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา สาขาเทคนิคเครื่องกล และสาขาเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์ โดยมีการยกระดับความร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำ หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Reskill Upskill Newskill ประจำปีการศึกษา 2565 (1 แผนก 1 หลักสูตรทันสมัย) เช่น หลักสูตรซ่อมบำรุงเรือสปีดโบ๊ท OUT BOARD ร่วมกับบริษัท ร้อยเกาะแอดเวนเจอร์ จำกัด/กองทัพเรือ/อบจ.สุราษฎร์ธานี, พัฒนากำลังคนสู่ทักษะอาชีพด้านการใช้ระบบ PLC ควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัท เฟิร์สคอนโทรลซิสเต็ม จำกัด, โครงการพัฒนาทักษะในด้านตัวถังและสีรถยนต์(ตาปีช้างเผือก) ร่วมกับบริษัท โตโยต้าตาปี จำกัด จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรช่างโตโยต้า ระดับ 1 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักสูตรและความร่วมมือกับเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง การจัดการศึกษาสายอาชีพก็ยังประสบปัญหาผู้เรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 ผู้เรียนอาชีวศึกษามีสัดส่วน 30% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 25% ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อาชีวศึกษาคือทางรอดของประเทศในปัจจุบันและอนาคต การจะเพิ่มจำนวนผู้เรียนจำเป็นต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองที่คิดว่าการส่งลูกมาเรียนอาชีวะด้อยกว่าสายสามัญ เราต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่าอาชีวะเป็นการศึกษาแบบสมรรถนะที่เรียนแล้วสามารถปฏิบัติงานได้จริง ระหว่างเรียนมีรายได้ เรียนจบแล้วมีงานทำ เช่นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ที่ผ่านมา สถานศึกษาต้องปิดเรียน นักเรียนแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่วิทยาลัยเทคนิคระยองได้ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชน จ้างนักเรียนให้ดูแลระบบต่าง ๆ ของอาคาร สามารถสร้างรายได้และเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะที่ผ่านมา นักเรียนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) “เรียนเกษตรดี เรียนฟรี มีอาชีพเสริม จัดการเรียนการสอนที่เน้นคุณภาพผู้เรียนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง อย่างยั่งยืน มั่นคง นำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัยด้วย STI ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแนวทางให้ทุกคนช่วยกันใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาวิธีการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนที่มีฝีมือตามที่ตลาดแรงงานต้องการ นำพาประเทศไปสู่แนวหน้าของโลกยุคใหม่ได้ต่อไป.

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น