กระทรวงศึกษาธิการ ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 ณ วัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง) จ.จันทบุรี ยอดเงินถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน 2,497,488.50 บาท

(4 พฤศจิกายน 2565) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส (พักอยู่กับที่ในฤดูฝนตลอดเวลาสามเดือน) ณ วัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง) ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี และพระอรรถโมลี เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

โอกาสนี้ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ., นายสุทิน แก้วพนา นายวีระ แข็งกสิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ผู้อำนวยการสำนัก, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนคณะผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา ศธ. และประชาชน เข้าร่วมในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และปวารณาถวายจตุปัจจัย เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ในการนี้ รมว.ศธ. และคณะผู้บริหารระดับสูง ศธ. ได้มอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี และโรงเรียนวัดไผ่ล้อม (อินทก์อุทัย) สถานศึกษาละ 10,000 บาท รวม 30,000 บาท

ทั้งนี้ ได้มีผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัย บำรุงและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,497,488.50 บาท

วัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2320 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินของไทยพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ) เมื่อปี พ.ศ. 2325 และยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อปี พ.ศ. 2539 สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โบราณสถานที่สำคัญของวัด คือ พระอุโบสถหลังเก่า พระเจดีย์ใหญ่ และพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เป็นพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 32.49 เมตร ยาว 54.19 เมตร ศิลปะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519

พระอุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีช่องทางเข้า ฉนวนด้านหลังมีเสารองรับ 5 ต้น ไม่มีบัวหัวเสา ฐานอาคารเป็นเส้นตรง มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กอยู่ภายในกำแพงแก้ว ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพต้นไม้ประเภทบอนไซและดอกไม้แบบจีน เรื่องทศชาติชาดก และพุทธประวัติที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ กุฏิพระและศาลาการเปรียญ มีไม้ฉลุแบบขนมปังขิงประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

ติดตามชมภาพทั้งหมดได้ที่ Facebook ศธ.360 องศา

ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ข่าว
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: