29 ตุลาคม 2565, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย /นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พูดคุยในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่อง กับรัฐมนตรี” ในประเด็น “ยกระดับการศึกษา พัฒนาคุณภาพเด็กไทย” ความก้าวหน้านโยบายจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อประชาชน ออกอากาศในเวลา 08.05-09.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHz และรับชมผ่าน Facebook Live Radio Thailand Live
update รับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/gsdIM0WBMN

รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของคน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามความเหมาะสมในแต่ช่วงวัย ให้เป็นทรัพยากรสำคัญ ที่เป็นฐานรากในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมให้มีทักษะชีวิต เป็นคนดี มีวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งแนวโน้มโลกในอนาคต
นับตั้งแต่ที่ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็น มาประกอบการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสเรียนรู้ อย่างที่พี่น้องประชาชนทุกคนคาดหวังไว้เช่นเดียวกัน
ความก้าวหน้าในการจัดการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จไปมาก หลายเรื่องเป็นรากฐานในการพัฒนาระยะยาว วันนี้ขอใช้เวลาพูดคุยถึงการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนา “ผู้เรียน” หรือนักเรียนนักศึกษาของเราให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นคนเก่งคนดี ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับ “เพื่อนข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คุณภาพของสถานศึกษา” ทุกระดับ ซึ่งจะเป็นกลไกพื้นฐานในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย และนำไปสู่การสร้างคุณภาพครอบครัว และสังคมที่มีความสุข สร้างประเทศชาติให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
เพื่อผู้เรียน
• สถานการณ์ COVID-19
2 ปีกว่าที่ผ่านมา การแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อเด็กและการจัดการเรียนการสอน ทำให้ต้องจัดการเรียนรู้รูปแบบ 5 On ได้แก่ 1) On-Air 2) Online 3) On-Demand 4) On-Hand 5) On-Site เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก และยังดำเนินต่อไปได้อย่างปลอดภัย
ขณะนี้เด็กนักเรียนอายุ 5-18 ปี ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีก็เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่าง ๆ พบว่าทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องโควิด 19 ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร
ทั้งนี้หลังจากที่มีการผ่อนคลายต่างๆ อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนักได้ง่าย เมื่อเด็กไม่ป่วย พ่อแม่ผู้สูงอายุในบ้านจะลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน จึงขอความร่วมมือทุกคน ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด
โควิด 19 ได้เปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 อีกไม่กี่วันก็จะเปิดเรียนตามปกติทั่วประเทศ ได้กำชับทุกสถานศึกษาให้เข้มงวดกับมาตรการ ป้องกันต่างๆ หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ▪ กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมโดยไม่ปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตรการ 6-6-7 เข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดห้องเรียนชั้นเรียน ▪ ส่วนกรณีมีอาการปานกลางหรือรุนแรง ให้ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษา และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน ที่ผ่านมาได้กำชับให้สถานศึกษาทุกแห่ง เข้มงวดมาตรการ 6-6-7 ทำให้พบการระบาดในโรงเรียนเพียง 5% เท่านั้น
การเรียนออนไลน์ในขณะนี้ จึงเป็นแผนสำรองเท่านั้น เพราะการเรียนที่ดีที่สุด คือ การเรียนในห้องเรียน แต่ต้องปฏิบัติภายใต้การป้องกันดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด
ในขณะเดียวกันได้จ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท เพราะรัฐบาลต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ในช่วงโควิด 19 เป็นวงเงินกว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งเด็กนักเรียนในทุกสังกัดได้เริ่มอุดหนุนช่วยเหลือทุกคน รวมถึงเด็กนักเรียนที่สังกัดโรงเรียนเอกชนด้วย
• โครงการพาน้องกลับมาเรียน
โควิด 19 ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา โครงการพาน้องกลับมาเรียนจึงถือเป็นนโยบายสำคัญที่มอบโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบกลางคัน ซึ่งเริ่มโครงการนี้เมื่อปลายปี 2564
ช่วงเวลานั้นพบตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 184,194 คน จนถึงขณะนี้ทุกหน่วยงานในสังกัดตามเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้ ช่วงเดือนกันยายนเหลือเพียง 8,000 กว่าราย
สำหรับเปิดเทอมนี้ ตั้งเป้าพากลับมาได้ 100% หรือ Zero drop out เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศต้องเป็นศูนย์ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่สามารถติดตามพบตัวเด็กนักเรียนได้ครบแล้วทุกคน
สำหรับสาเหตุที่เด็กต้องหลุดระบบการศึกษาไปนั้น นอกจากสถานการณ์โควิด 19 แล้ว ยังเป็นเรื่องของความจำเป็นทางครอบครัว ผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่พอเพียง เป็นต้น ส่วนนักเรียนที่ไม่สามารถติดตามได้มีสาเหตุ เช่น ย้ายถิ่นที่อยู่ ความจำเป็นทางครอบครัว และระบุสาเหตุไม่ได้
ส่วนกลุ่มเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว จะมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ โดยดูแลช่วยเหลือตามสาเหตุ เช่น จัดหาทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน บิดามารดาเสียชีวิต หรือกรณีเรียนรู้ช้า ก็ปรับวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ สอนซ่อมเสริม
• อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ
รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาด้านอาชีวศึกษา เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากฐานของสังคมโดยแท้จริง ในเรื่องของหลักสูตรหรือแนวทางการเรียน จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วประกอบอาชีพได้จริง ตอบโจทย์การทำงาน ต่อสถานประกอบการและภาคธุรกิจ รวมถึงสามารถยกระดับการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา จึงมีโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายนำเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีฐานะยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงนักเรียนตกหล่นจากระบบการศึกษา ให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษาสายอาชีพ สามารถประกอบอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ โดยมีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วม 170 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี
ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 โดยสถานศึกษาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหอพักที่มีอยู่เดิมหรืออาคารเรียน เพื่อใช้เป็นอาคารหอพักชั่วคราว จำนวน 88 แห่ง และรับนักเรียนเข้าศึกษารุ่นที่ 1 ทั้งหมดจำนวน 4,074 คน แบ่งเป็น 27 สาขาวิชา โดยสาขาวิชาที่มีนักเรียนในโครงการมากที่สุดคือ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ จำนวน 2,598 คน และสาขาวิชาช่างยนต์ 427 คน ช่างไฟฟ้ากำลัง 220 คน ตามลำดับ
ส่วนระยะต่อไป ปี 2566 สถานศึกษาที่เหลือ 82 แห่ง จะซ่อมแซมอาคารหอพักที่มีอยู่เดิมหรืออาคารเรียน เพื่อใช้เป็นอาคารหอพักชั่วคราว และจะก่อสร้างอาคารหอพักในวิทยาลัยการอาชีพอีก 38 แห่ง เพื่อรับนักเรียนเข้าศึกษารุ่นที่ 2 ต่อไป
• เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว
เป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องประชาชน ผู้ปกครองทุกท่าน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปีตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียนและผู้ปกครอง ทุกสังกัด วงเงินที่เพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ 1. ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป 2. ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่ 1. ค่าจัดการเรียนการสอน 2. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569
จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 รายการ ไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนมานานมาก ปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ขณะที่ปัจจุบันราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนครั้งนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียนกว่า 11.5 ล้านคน และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย สำหรับเงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียนที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
• การแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอย (Learning loss)
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจ มีการเดินหน้าแก้ไขอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระหว่างมีการเรียนการสอน จัดทำ Platform ครูพร้อม เพื่อช่องทางการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ให้สถานศึกษาพิจารณาการเรียนรู้แบบ 5 On ตามความเหมาะสมในแต่ละพื่นที่
ทั้งนี้มีเป้าหมายการขับเคลื่อนโดยเด็กเล็ก ที่เป็นโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า เน้นให้อ่านออก เขียนได้ ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนใน จ.น่าน รู้สึกสบายใจ ชื่นใจ ที่ได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา Learning Loss ของผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ที่แข็งขันในการส่งมอบความรู้ให้กับเด็กๆ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาผสมผสานอีกด้วย
• ความปลอดภัยในสถานศึกษา
ศธ.ได้พัฒนาระบบการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ใช้ชื่อว่าศูนย์ “MOE SAFETY CENTER” โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นแอปพลิเคชันในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย ซึ่งนักเรียนและประชาชนทุกคนสามารถแจ้งเหตุได้ 4 ช่องทาง ผ่านแอปพลิเคชัน MOE Safety Center หรือเว็บไซต์หรือไลน์ หรือสายด่วน Call Center 02-126-6565 ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อการใช้งานแล้ว มากกว่า 1 ล้านราย จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นผู้แจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยของเรา ผ่านแอปพลิเชัน MOE Safety Center
สิ่งสำคัญคือ ศธ.ได้เก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษา และด้านความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ เพื่อขยายผลการทำงาน 3 ป. คือ “ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม” รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ ภัยจากการล่วงละเมิด การทำร้ายตัวเอง สารเสพติด การอุปโภคบริโภค การทะเลาะวิวาท การถูกล่อลวงลักพา สื่อลามกอนาจาร อบายมุข พฤติกรรมชู้สาว อินเทอร์เน็ตและเกม สุขภาพอนามัยของนักเรียน หรือแม้แต่สัตว์มีพิษ
โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด และภัยร้ายจากเหตุอาวุธปืน จะต้องไม่เกิดขึ้นภายในสถานศึกษาโดยเด็ดขาด เพราะเรื่องความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นวาระสำคัญ ที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ครู หรือบุคลากร และประชาชนทุกคน ศธ.ก็ได้ดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยตามนโยบาย และจุดเน้นในเชิงปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้เรียนต้องได้รับความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะภัยรุนแรงจากอาวุธปืน และภัยยาเสพติด
เช่นเดียวกับภัยจากไซเบอร์ ศธ.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน จัดทำหลักสูตรดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง และเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีเนื้อหาการเรียนการสอนที่น่าสนใจ มีการออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย หลักสูตรนี้จะทำให้เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นผ้าขาว อาจจะขาดความรู้ หรือรู้ไม่เท่าทัน ขาดขีดความสามารถในการประเมินเนื้อหาขาดการตระหนักรู้ การควบคุมตนเอง การยับยั้งชั่งใจ และความอยากทดลอง หลายกรณี ส่งผลกระทบที่มีระดับความรุนแรงเกิดขึ้น ได้ปลอดภัยจากการรับสื่อดิจิทัล เป็นการป้องกันการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศ
นอกจากนื้ ยังมี “ระบบการดูแลนักเรียนและครูด้าน Mental Health ในสถานศึกษา” โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสภาพจิตใจของเด็กและครูผ่านแพลตฟอร์ม School Health Hero ที่เป็นระบบคอยคัดกรอง ดูแลช่วยเหลือนักเรียน รวมทั้งจะมีแผนเผชิญเหตุและผู้ให้คำปรึกษาเพื่อดูแลเด็ก และครูแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
และในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ได้สั่งการ และเน้นย้ำให้สถานศึกษามีความเข้มข้นในการบริหารจัดการเกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียน ให้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับตัวบุคคล ยานยนต์ และแนวทางปฏิบัติประจำวัน พร้อมทั้งได้มอบนโนยายให้อาชีวะ นำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยไปติดตั้งกับโรงเรียน รวมถึงการประกวดนวัตกรรมของอาชีวะที่จะมีขึ้น ได้ให้กำหนดหัวข้อนวัตกรรมด้านความปลอดภัยเป็นหัวข้อหลักอีกด้วย
ปัจจุบัน ศธ.วางระบบ Monitor ติดตามความคืบหน้าในการร้องเรียนหรือแจ้งเหตุเป็นรายวัน มีการรายงานการแก้ไขปัญหาแบบ Real-time เช่น กรณีโรงเรียนสระแก้ว มีการแจ้งเหตุด่วนมากผ่านแอปพลิเคชัน เรื่องนักเรียนกรีดข้อมือตัวเอง จากนั้นศูนย์ความปลอดภัย ศธ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบ และดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนโดยด่วน โดยคุณครูได้พานักเรียนไปรักษาที่โรงพยาบาลยุพราชสระแก้ว ประสานผู้ปกครองให้รีบมาลงชื่อรับรองการผ่าตัด และเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว โรงเรียนได้ประสานกับนักจิตวิทยาเพื่อดูแลทางด้านจิตใจต่อไป เคสนี้สามารถปิดเรื่องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนได้ในวันเดียว
อย่างไรก็ตาม เรื่องของความปลอดภัย จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ในการช่วยกันดูแลเด็กนักเรียน และโรงเรียนของเราให้มีความปลอดภัยให้ได้มากที่สุด
• การช่วยเหลือน้ำท่วม
สำหรับเหตุอุทกภัย หลายพื้นที่ยังคงเดือดร้อนจากน้ำท่วมในเวลานี้ ที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวง ทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือ พร้อมมอบถุงยังชีพให้ในส่วนของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขอให้รายงานข้อมูลความเสียหายมาในระบบออนไลน์ เพื่อส่วนกลางจะได้รวบรวมข้อมูลเสนอของบประมาณช่วยเหลือฟื้นฟูโดยเร็วต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เตรียมความพร้อม เพื่อการเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูให้กับประชาชนที่ประสบภัยหลังน้ำลด ในโครงการ อาชีวะช่วยประชาชน

เพื่อคุณภาพการเรียนการสอน
ศธ.ได้เน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้ง สายสามัญ สายอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต
1) การเรียนสายสามัญ
▪ Active Learning
มีหลายด้านที่มีความคืบหน้าไปมาก เช่น Active Learning กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือทำ และได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำลงไป โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ที่ผ่านมาครูผู้สอนส่วนหนึ่งยังขาดกระบวนการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้และทักษะไปฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง รวมทั้งออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่หลากหลาย ขาดความน่าสนใจ ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้ทักษะต่างๆ
ดังนั้น Active Learning จึงถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 สำหรับผู้เรียนชั้น ป.1 – ม.6 โดยมีการจัดทำกิจกรรม Active Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน การอบรมครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร เพื่อขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่าน Active Learning ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี น่าน เชียงใหม่ สระบุรี ตาก และนครราชสีมา
จากนั้น สพฐ.ได้สร้างเครือข่ายและขยายผลกับโรงเรียนคุณภาพ 349 แห่ง พร้อมทั้งจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูผ่าน PLC จัดเวทีประกวดผลงาน นวัตกรรม โดยมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู้เป้าหมายจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข มีทักษะการคิด สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งจะมีการสร้างโรงเรียนต้นแบบ Active Learning ต่อไป
▪ วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง
ความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นไทย เรียนรู้และเข้าใจถึงความเป็นมาของชาติในมิติต่างๆ จนสามารถนำมาสู่ปัจจุบัน ที่ทำให้ประเทศไทยดำรงอยู่ในเวทีโลกได้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีการบรรจุวิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง
โดยจัดการเรียนรู้ตามความพร้อม และความเหมาะสมในแต่ละบริบทของพื้นที่ ซี่งมีรูปแบบการสอนที่หลากหลายวิธีเรียน ผ่านสถานที่ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ หรือการนำปราชญ์ท้องถิ่นมาเป็นผู้มอบความรู้ หลายพื้นที่ของประเทศ อุดมไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมที่สวยงามและมีคุณค่า มีเรื่องเล่าต่างๆ ที่นับเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การเชื่อมโยงเพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ เพื่อให้เกิดสำนึกของความเป็นคนไทย รักในการเป็นชาติของเรา รวมถึงการมีมิติการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ นอกเหนือไปจากมิติความมั่นคง
▪ Coding for All, All for Coding
มีการจัดทำสื่อการจัดการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning คือ Coding for All, All for Coding ตั้งแต่ปี 2562 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันการเรียน Coding ให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เน้นการใช้กระบวนการคิดเพื่อเตรียมเยาวชนของไทยสำหรับศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับการเรียนแบบ Active Learning ปัจจุบันอบรมครูผู้สอนไปแล้วกว่า 300,000 คน และมีโครงการเฉพาะลงไปในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการขยายการเรียนรู้ไปในทุกภาคส่วน เช่น การใช้ Coding ประยุกต์กับการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน
ขณะเดียวกัน มีการจัดหาอุปกรณ์การเรียนดิจิทัล (Smart Devices) ซึ่ง ศธ.ได้จัดทําแผนและงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน USO ของ กสทช. ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งเปิดโครงการ “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้ น้องได้เรียน” ด้วยการเปิดรับบริจาคอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ หรือบริจาคเงินผ่านบัญชีโดยให้ผู้ต้องการบริจาคแจ้งความประสงค์ และไปบริจาคที่สถานศึกษานั้นๆ ได้โดยตรง โดยสามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้ จึงขอเชิญชวนพี่ๆ ทุกคน ร่วมบริจาค Smart Devices ให้น้องๆ นักเรียนด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการอบรมให้กับข้าราชการที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร รวมทั้งมอบหมายให้ปลัด ศธ.พิจารณานำหลักสูตร Coding ระดับพื้นฐาน เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการปฐมนิเทศข้าราชการบรรจุใหม่ ตลอดจนประสานงานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อเสนอเพิ่มการอบรมหลักสูตร Coding เข้าไปด้วย ซึ่งจะทําให้ Coding เข้าไปอยู่ในส่วนราชการทั้งหมด และเตรียมจัดแสดงผลงานดีเด่นของครูผู้สอน เพื่อค้นหาสุดยอดครูที่มีการจัดการเรียนรู้ด้าน Coding ดีเด่นทั่วประเทศ ถือเป็นการให้ Coding เข้าไปมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการคิดเพื่อเตรียมเยาวชนของไทย และเป็นแนวทางประกอบอาชีพสำหรับประชาชนทุกอาชีพ
▪ มัธยมสายเตรียมอาชีพ
ตัวอย่างสายการเรียนแบบใหม่ที่ Customize ตามความสนใจของนักเรียน คือ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการปรับหลักสูตร วิธีเรียน วิธีสอน เพิ่มวิชาให้นักเรียนได้สัมผัสทักษะอาชีพต่าง ๆ เช่น จากเดิมนักเรียนที่จะเข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรม ต้องไปหาเรียนข้างนอกเองเพื่อเตรียมตัวไปสอบ แต่หลักสูตรใหม่นักเรียนก็จะได้เรียนความถนัดของสถาปัตย์ที่เป็นพื้นฐานปี 1 ของมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อได้สัมผัสจนนักเรียนมีความชัดเจน และมีเป้าหมายชีวิต
โรงเรียนโพธิสารพิทยากร จึงปรับแผนการเรียนใหม่ เพื่อเตรียมสายอาชีพ 7 แผนการเรียน ได้แก่ เตรียมแพทย์– เภสัชฯ, เตรียมวิศวะ – สถาปัตย์, เตรียมวิทย์– คอมพิวเตอร์, เตรียมนิเทศศาสตร์– มนุษยศาสตร์, เตรียมศิลปกรรม, เตรียมบริหารธุรกิจ – บัญชีและเตรียมนิติศาสตร์– รัฐศาสตร์ซึ่งเป้าหมายในการทำหลักสูตรนี้คือ ม.ต้น ต้องการให้นักเรียนค้นพบตัวเอง ค้นหาความต้องการของตัวเอง ส่วน ม.ปลาย เตรียมความพร้อมสู่อาชีพ โดยผ่านกระบวนการของกิจกรรมต่างๆ เช่น ลดวิชาไม่จำเป็น
อีกแห่งที่น่าสนใจคือ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ และมีการเรียนการสอน การฝึกทักษะเฉพาะทาง ทางด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ที่เข้มข้น จึงทำให้เกิดการผลิตนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย นักนวัตกร ให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีโครงการความร่วมมือสร้างทักษะการวิจัยกับ สวทช. ซึ่งนักเรียนจะได้ทักษะในการปฏิบัติงานจริงกับนักวิจัย และยังมีโครงการการวิจัยใหญ่ๆ ที่ทำจริงในระดับสูง นอกเหนือจากโครงงานที่ทำที่โรงเรียนตามปกติ ซึ่งสัดส่วนของนักเรียนในโครงการฝึกทักษะวิจัยกับ สวทช. สูงถึง50% ของนักเรียนทั้งหมด
▪ ทวิศึกษา
ได้พิจารณาจัดทำหลักสูตร “ทวิศึกษา” ต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของ สพฐ.และ สอศ. ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่เพิ่มโอกาสด้านวิชาชีพให้แก่ผู้เรียนสายสามัญศึกษาได้เรียนสายช่างควบคู่ไปด้วย จบแล้วผู้เรียนจะได้รับทั้งวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. และยังสามารถเก็บหน่วยกิตสะสม เป็นธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตไปต่อยอดการเรียนต่อในระดับ ปวช./ปวส.
โดยมอบให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมกันจัดทำแผนระดับจังหวัดว่า ควรจัดทวิศึกษารายวิชาใด ในโรงเรียนไหน โดยให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ และศูนย์ศึกษาสงเคราะห์ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการทวิศึกษา จำนวน 11,722 คน ที่ศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ 190 แห่ง
2) การเรียนสายอาชีพ
▪ Excellent Center และ CVM เพื่อสอดรับเศรษฐกิจ S-Curve / New S-Curve
เพื่อเป็นการสนับสนุนทิศทางและนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน รวมถึงการผลักดันระบบเศรษฐกิจที่เป็นอุตสาหกรรมหลักในอนาคต ทั้งในกลุ่ม New S-curve และ First S-curve ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะเป้าหมายหลักใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1) การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ 2) การแพทย์ครบวงจร (ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์) 3) การบินและโลจิสติกส์ (ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและบรรจุภัณฑ์) 4) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
จึงเน้นให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยการจัดตั้งศูนย์ Excellent Center ซึ่งจัดตั้งได้แล้ว 120 แห่ง ใน 42 สาขาวิชา และศูนย์ CVM (Center of Vocational Manpower Networking Management) 25 แห่ง จะเป็นต้นแบบในการจัดการอาชีวศึกษาในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณภาพ สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เช่น
วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม เป็นศูนย์ Excellent Center ด้านแม่พิมพ์และเป็น “ศูนย์บริหารเครือข่ายเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สาขาวิชาเทคนิคการผลิต”
วิทยาลัยเทคนิคถลาง ภูเก็ต หลักสูตร ปวส. ในการเปิดสอนหลักสูตรวิชาช่างอากาศยาน เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจสายการบิน ซึ่งผ่านการรับรองหลักสูตรจากองค์กรสากลเป็นที่เรียบร้อย
▪ อาชีวะทวิภาคี
เป็นการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษา ภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการศึกษา เพื่อร่วมคิด ร่วมกำหนด และรับผิดชอบร่วมกัน ด้วยการเสนอแนะแนวทางกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน การวางแผนกำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมถึงสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาแบบมีส่วนร่วม สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จบแล้วมีสมรรถนะตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ
มีเป้าหมายขยายผลการจัดการอาชีวศึกษา โดยมีผู้เรียนในรูปแบบทวิภาคีเป็น 50% ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด ภายใน 3 ปีการศึกษา มีการจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาคแล้ว 15 ศูนย์
ผลการดำเนินงาน เช่น
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้จัดการศึกษาแบบทวิภาคีมุ่งเน้น “Work Integrated Learning” โดยสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ได้ทำ MOU กับสถานประกอบการ 6 แห่ง ประกอบด้วย ระดับ ปวช. ที่ได้ร่วมมือกับ ไลอ้อนประเทศไทย และ ปวส. ร่วมมือกับ บีเอ็มดับเบิลยู ฟอร์ด บ๊อช เอสซีจีเคมิคอลส์ และบริษัทพลังงานบริสุทธิ์
วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ถือเป็นวิทยาลัยนำร่องเฉพาะทาง และExcellent Center ด้านการซ่อมบำรุงเรือยอร์ช โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมารีน่า ธุรกิจเรือและท่าเทียบเรือ ดำเนินการศึกษาสมรรถนะอาชีพ ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช ซึ่งสำรวจความต้องการกำลังคนในช่วง 5 ปี ตำแหน่งพนักงานรับเรือ พนักงานผูกเรือ มีความต้องการรวม 660 คน ช่างทั่วไปและช่างเทคนิคของอุตสาหกรรมมารีน่า ธุรกิจเรือและท่าเทียบเรือ ต้องการจำนวน 2,080 คน ปัจจุบันเปิดสอนระดับ ปวช.สาขาช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ชรับเข้าเรียนปีการศึกษานี้ 46 คน และ ปวส.สาขาช่างเทคนิคซ่อมบำรุงเรือยอร์ช 22 คน โดยใช้ครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย และฝึกอาชีพในสถานประกอบการเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรักษาตัวเรือ เครื่องยนต์เรือ ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เรือ เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช มีรายได้ต่อเดือน เริ่มต้นที่ 12,000–15,000 บาท ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งช่างเทคนิคซ่อมบำรุงเรือยอร์ช มีรายได้ต่อเดือน 15,000–18,000 บาท
ทาง สอศ. ได้มีการลงนาม MOU ในข้อตกลงความร่วมมือไปแล้วกับภาคเอกชนมากกว่า 1,000 ฉบับ ดังนั้น จะมีการจัดประชุมร่วมกับองค์กรภาคเอกชน เพื่อกระชับความร่วมมือในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน โดยจะปรับแนวทางให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกภาคปฏิบัติมากกว่าการนั่งเรียนภายในห้องรวมถึงหารือถึงทิศทางด้านความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจะศึกษา และพิจารณาตลาดแรงงานเป็นรายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการบูรณาการฐานข้อมูลด้านความต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาเชื่อมั่นได้ว่า ผู้เรียนจบในสายวิชาชีพ จะมีตำแหน่งงานที่รองรับได้ทันที
3) การศึกษาตลอดชีวิต
คือการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดเรียนรู้ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย คือ
- ช่วงแรกเกิดถึงปฐมวัย เน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามพัฒนาการ อาทิ การส่งเสริมการรู้หนังสือ ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็นในระดับเบื้องต้น
- ช่วงวัยเรียน พัฒนาทักษะความสามารถการเรียนรู้สอดรับกับทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ รวมทั้งทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลายในปัจจุบัน
- ช่วงวัยแรงงาน พัฒนาระบบการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกด้านความรู้ให้ได้รับการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพของบุคคล สามารถพัฒนาสมรรถนะแรงงาน ต่อยอดทักษะความรู้ของตนเองให้เหมาะสมอาชีพและตลาดแรงงานในปัจจุบัน
- ช่วงวัยผู้สูงอายุ เน้นการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุ ช่วยคงสมรรถนะทางกาย จิตและสมองของผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มเตรียมเป็นผู้สูงอายุซึ่งยังมีพลังในการขับเคลื่อนสังคม โดยออกแบบกิจกรรมที่ให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้พัฒนาการไปเป็นผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง (ติดบ้านและติดเตียง)
ทั้งนี้ ศธ.ได้ขับเคลื่อนร่าง พระราชบัญญัติการส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทบทวนภารกิจ บทบาทโครงสร้างของหน่วยงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถดูแลการศึกษาครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ให้ได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตนเองของประชาชน การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
โดยมุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตรอาชีพระยะสั้น ที่เน้น New skill Upskill และ Reskill ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของตลาดแรงงาน และกลุ่มอาชีพใหม่ที่รองรับ Disruptive Technology การสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่แข็งแรง โดยการให้ความรู้ และฝึกทักษะ เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้า บริการจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่เน้น “ส่งเสริม ความรู้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาด ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ และช่องทางการจำหน่าย
นอกจากนี้ กศน.ได้จัดกิจกรรมโครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต กลุ่มผู้สูงอายุ ตามที่ ศธ.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเป้าหมายพัฒนาประชากรผู้สูงอายุซึ่งเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ ให้มีความรู้ มีทักษะฝีมือ และมีพัฒนาการทางด้านจิตใจ ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยังคงต้องเดินหน้าเต็มกำลัง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยเน้นการดำเนินกิจกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี
ผู้สนใจ สามารถติดต่อ กศน.ในแต่ละพื้นที่เพื่อเข้ารับการอบรมได้

เพื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
• การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
ศธ.ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน บูรณาการร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบแบบยั่งยืน มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ ลดดอกเบี้ยเงินกู้, ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้, ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย, จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ, ปรับโครงสร้างหนี้, กำหนดให้หักเงินสวัสดิการ ช.พ.ค. เพื่อสามารถเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ และให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน
จากการดำเนินงาน นับตั้งแต่มีการเปิดลงทะเบียนครูเพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการจัดมหกรรมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และธนาคารออมสิน จากจำนวนผู้ลงทะเบียน 40,369 คน ยอดหนี้รวม 58,563,499,815.00 บาท ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 11,111 คน เป็นเม็ดเงินรวมที่มีการปรับโครงสร้างนี้ 9,998,606,259.11 บาท หรือคิดเป็นยอดหนี้ที่มีการไกล่เกลี่ยแก้ไข 17%
ทั้งนี้จะมีการขยายผลการจัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้ครูทั่วประเทศในระยะต่อไป เพื่อให้ครูไทยคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน ดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
ตัวอย่างของการแก้ไขหนี้ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 มีครูเงินเดือนรายได้เหลือ 15,000 บาท ขณะที่ยอดเงินกู้สูงถึง 6,900,000 บาท ชำระหนี้ไม่ไหว โดนธนาคารฟ้อง สถานีแก้หนี้ครู สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 จึงได้รวมหนี้ต่าง ๆ ไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรีเป็นโครงการเดียว มีการหารือขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยอาจจะขอกู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่ำในวงเงินเดิม เพื่อปรับปรุงบ้านและนำเงินไปชำระหนี้สหกรณ์บางส่วนได้ ส่วนหนี้นอกระบบ อาจจะขอจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำตามความเหมาะสม ตลอดจนนำทรัพย์สินอื่นที่มีมาตัดหนี้ลง สร้างวินัยทางการเงิน จัดทำบัญชีครัวเรือน และหารายได้เพิ่ม
ขณะนี้ ศธ.ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป โดยจัดทำข้อตกลงกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อให้เพื่อนครูที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต หรือกำลังถูกฟ้อง สามารถกู้เงินสะสม กบข. เงินสมทบ (ประมาณ 3-5 แสนบาท) และผลประโยชน์มาลดยอดหนี้ รวมถึงในอนาคตครูที่จะกู้เงินและใช้สวัสดิการหัก ณ ที่จ่าย จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนปรนต่ำกว่าตลาดทั่วไป
• ปรับหลักเกณฑ์ย้ายครู 2 ปี
หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายเดิม กำหนดให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และดำรงตำแหน่งครู อีก 2 ปี รวมเวลา 4 ปี ถึงจะยื่นคำร้องขอย้ายได้ ทำให้ข้าราชการครูที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนา ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการครู อันจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูสังกัด ศธ. ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยกำหนดการย้ายเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีปกติ กรณีพิเศษ และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
กรณีการย้ายกรณีปกติ ครูผู้ช่วยเมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว ครบ 2 ปีสามารถยื่นคำร้องได้เลย (ไม่ต้องรอ 4 ปี) ส่วนข้าราชการครูปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 24 เดือน สามารถนำระยะเวลาที่เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในสถานศึกษานั้น ไม่น้อยกว่า 24 เดือนมาใช้ได้ โดยการขอย้ายกรณีปกติ สามารถยื่นคำร้องได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม จะพิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 15 ก.พ –30 เม.ย. และครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 1 ก.ย.–31 ต.ค. เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม เปิดเทอมไปสอนแห่งใหม่ได้เลย
• ปรับหลักเกณฑ์ และการประเมิน ว PA
ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ ด้วยการนำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเริ่มใช้งานระบบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของเข้าสู่ระบบการศึกษา 4.0
ไม่เพียงความทันสมัย รวดเร็ว มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ลดภาระ ลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอเลื่อนวิทยะฐานะของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ช่วยให้ครูไม่ต้องใช้เวลานอกห้องเรียนเพื่อไปทำเรื่องเกี่ยวกับทะเบียนประวัติอีกต่อไป และไม่ต้องเดินไกลเข้าส่วนกลางเพื่อยื่นเอกสาร สามารถส่งเป็นไฟล์เอกสารดิจิทัล และติดตามผลการประเมินได้ทางระบบเช่นเดียวกัน จะทำให้ครูมีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากกว่าเดิม
อีกทั้งยังเป็นเกณฑ์การประเมินรูปแบบใหม่ ที่จะเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามบริบทของผู้เรียน จากการวางแผนการเรียนการสอน และการสอนจริงในชั้นเรียน มากกว่าผลลัพธ์ทางการศึกษาจากการวัดและประเมินผลด้านวิชาการ และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินใหม่นี้ จะเป็นส่วนสนับสนุนการยกระดับ และพัฒนาพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของครูได้เป็นรายบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
• เงินอุดหนุนครูและผู้ช่วยครูโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนให้เด็กพิการ
ศธ.ได้ผลักดันให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสําหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในส่วนของสมทบเงินเดือนครู และผู้ช่วยครูที่ จัดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิการ ซึ่งจะเป็นการลดภาระ และลดค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียนเอกชนโดยตรง ซึ่งเร็วๆ นี้ ศธ.จะออกระเบียบการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้โรงเรียนเอกชนเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้ได้เร็วที่สุด โดยเป็นเงินที่ครูในสังกัดโรงเรียนเอกชนกลุ่มนี้ จะได้รับเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2566 เป็นเงิน 118,739,045 บาท เพื่อคุณภาพการศึกษา
• โรงเรียนคุณภาพ
โรงเรียนในสังกัด ศธ.มีมากกว่า 30,000 โรงเรียน ซึ่งการจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี ไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนคุณภาพ สิ่งที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และเร่งด่วน รวมทั้งมีการใช้เงินงบประมาณอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเด็กเกิดใหม่ที่มีจำนวนน้อยลง การคมนาคมที่สะดวกมากยิ่งขึ้น มีความพร้อมด้านสถานที่ และอุปกรณ์การเรียนการสอน จึงจำเป็นต้องคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม และพัฒนาต่อยอดให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ ทั้งโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone)
โดยเน้นให้ความสำคัญ 7 ด้าน คือ ความปลอดภัยของผู้เรียน ระบบประกันคุณภาพ การพัฒนาครูการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การนิเทศกำกับและติดตาม และ Big Data
ทิศทางการพัฒนาโรงเรียน คือ
- โรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา 10,480 โรง ต้องมีสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความพร้อมและเหมาะสม มีโรงเรียนเครือข่ายโดยรอบ สามารถนำนักเรียนมาเรียนรวม เพื่อยกระดับคุณภาพให้เกิดความมั่นใจต่อชุมชนและผู้ปกครอง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแชร์ทรัพยากรร่วมกัน
- โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษา 1,155 โรง มีความพร้อมรองรับโรงเรียนประถมศึกษาที่จะมาเรียน และรับนักเรียนขยายโอกาส เป็นการแบ่งเบาภาระในการรับนักเรียนโรงเรียนแข่งขันสูงกลับสู่ชุมชน
- โรงเรียนคุณภาพเเบบ Stand Alone 1,303 โรง คือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พื้นที่สูง บนเกาะ ทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพทั้ง 12,938 โรง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ๆ ละ 5 ปี คือ 1) เพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้นครบวิชาเอก 2) มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม 3) มีงบประมาณเพียงพอ 4) มีอาคารสถานที่ปลอดภัย มีครุภัณฑ์ อุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัย 5) เน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการแข่งขัน 6) หากเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีงบประมาณและอัตรากำลังครูอย่างเหมาะสม
การวางทิศทางการพัฒนาในระยะยาวถึง 4 ระยะ ใช้เวลาต่อเนื่องเกือบ 20 ปี เชื่อว่าวันหนึ่งโรงเรียนทุกโรงของประเทศไทยจะพลิกโฉมจากเดิม ไปเป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบ พร้อมให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน ทิศทางที่กำหนดไว้อาจต้องใช้เวลาอีกยาวไกล แต่การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่วันนี้ ก็น่าจะทำให้มีความหวังที่จะเห็นความสำเร็จในอนาคต
ตัวอย่างโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ เช่น
SAKAEO MODEL มีโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วม และใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น โรงเรียนอนุบาลวังน้ำเย็นมิตรภาพที่ 179 ซึ่งเป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ นำนักเรียนโรงเรียนวัดเกศแก้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่าย มาเรียนรวม 100% ในทุกระดับชั้น และที่กำลังจะเห็นผลสำเร็จเร็วๆ นี้คือ ชุมชนบ้านพักครู ซึ่งจะเป็นต้นแบบระดับประเทศ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งชุมชนบ้านพักครู”
หรือจากการลงพื้นที่ในจังหวัดหนองคาย ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ สังกัด สพป.หนองคายเขต 2 ซึ่งมีการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม.3 เป็นโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนเครือข่ายที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน จำนวน 10 โรงเรียน รวมนักเรียนทั้งหมด 1,227 คน ครูและบุคลากรรวม 105 คน มีการขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณภาพอย่างจริงจัง มีแผนงานที่จะพัฒนาและใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนเครือข่าย ทั้งยังสามารถดึงนักเรียนที่ออกจากระบบกลับมาเรียนได้หลายคน มีการสร้างทักษะอาชีพให้นักเรียน มีการดูแลความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า อาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการได้รับรางวัลของโรงเรียนและนักเรียน เห็นเพชรเม็ดงามในชนบท
ศธ.มีแผนที่จะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนงบฯ ด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ค่ารถในการนำเด็กจากโรงเรียนเครือข่ายมาเรียน เช่นเดียวกับ โรงเรียนบ้านพระบาทนาหงส์ ซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ป.6 มีการจัดกิจกรรมเด่นๆ ที่หลากหลาย อาทิ กิจกรรมสภานักเรียน ส่งเสริมประชาธิปไตย, คลินิก 3R เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ, จัดห้องสมุดมีชีวิต ส่งผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศห้องสมุด 3 D และรางวัลชนะเลิศห้องสมุดส่งเสริมนิสัยรักการอ่านประจำปีการศึกษา 2565
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ที่ส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีสมรรถนะในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังส่งผลถึงชุมชน ให้ผู้ปกครอง และชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาผสมผสานกับงานด้านการเกษตรและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการฟาร์มได้
การลงพื้นที่ ยังมีโอกาสได้พบปะ และให้กำลังใจครู บุคลากร และผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเมื่อเห็นนักเรียนมีความสุขแล้วก็หายเหนื่อย และขอชื่นชมครู และผู้บริหารโรงเรียนทุกคนที่ได้ทุ่มเททำงานต่อเนื่องหลายปี ซึ่งนักเรียนทุกคน ก็คือ ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ในการทำงาน เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งดีงามที่เป็น Soft Power อาทิ การฟ้อนรำ นาฏศิลป์พื้นเมือง รวมถึงภูมิปัญญาของปราชญ์ท้องถิ่น ที่สามารถนำมาบูรณาการในการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการฝึกฝนเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และประชาธิปไตยให้แก่เด็กๆ ซึ่งปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเด็กอยู่กับสื่อต่างๆในโลกโซเชียลเยอะ ดังนั้น ครู ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการทำให้เด็กมีความมั่นคงและแข็งแกร่งในเรื่องของการมีจริยธรรม ศีลธรรม
• การใช้ Digital Technology เข้ามาช่วยจัดการศึกษา
เป็นอีกเรื่องที่สำคัญภายใต้สถานการณ์โควิด 19 เราจะเห็นครูเก่งๆ และเป็นที่ชื่นชอบผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ใน TikTok, YouTube เช่น ครูมัทรี ครูชิน ฯลฯ คุณครูเหล่านี้เป็นครูปกติทั่วไป แต่ก็ได้พัฒนาและเสริมเทคนิคการสอน ทำให้การเรียนออนไลน์ของเด็ก ๆ ไม่น่าเบื่อ เด็กๆ ตั้งใจเรียนกันมากยิ่งขึ้น ศธ.พร้อมจะผลักดัน สนับสนุนทุกภาคส่วน จัดหาอุปกรณ์การเรียนสำหรับน้อง ๆ ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ ให้ได้รับอุปกรณ์ที่ดี ๆ มาเรียนรู้คู่ตัว 24 ชั่วโมง เพราะโลกแห่งการเรียนรู้ ปัจจุบันเกิดได้ทุกเวลา ทุกสถานที่อยู่แล้ว ถือเป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสเรียนรู้” ให้น้อง ๆ ทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ มีการร่วมมือกับมูลนิธิต่างๆ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดอุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติม เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค เข่น โครงการ Notebook for Education ที่เป็นการร่วมมือกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา หรือ Connext ED
• การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ
เวทีหนึ่งที่สำคัญได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางจัดการศึกษาในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหารือถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคตร่วมกัน อีกเรื่องเป็นที่น่ายินดี มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างปี 2567-2568 และการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน
ขอเรียนให้พี่น้องประชาชน เข้าใจการทำงานของ ศธ. เพราะเราต้องการสร้างความไว้วางใจให้ทุกคนในสังคมกลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้หลักการ TRUST คือ
- ความโปร่งใส
- ความรับผิดชอบ
- ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
- มองผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา
- การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ซึ่ง “TRUST” เป็นการพัฒนาและสร้างรูปแบบการทำงาน “MOE ONE TEAM” หรือ “การทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ” ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด TRUST จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในเรื่งอความโปร่งใส ทั้งในเชิงกระบวนการทำงาน และกระบวนการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ การสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินงามตามภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบต่อตัวเอง องค์กร ประชาชน และประเทศชาติ
ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุน และผลักดัน เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ ร่วมกันเตรียมความพร้อมทางการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ
















ใส่ความเห็น