25 สิงหาคม 2565, โรงแรมฮอไรซั่นวิลเลจ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ / ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในงานสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่” โดยมีนายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15 นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กช. ตลอดจนผู้บริหาร ผู้แทน ครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 350 คน เข้าร่วมงาน
รมช.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จึงได้ประกาศนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ หากมองให้ลึกลงไปในเชิงพื้นที่ ต้องขอชื่นชมสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เชียงใหม่ ที่ได้นำพาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ร่วมดำเนินการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาของ ศธ.
“การจัดอบรมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ นอกจากเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานตามโครงการของ สช. แล้ว ยังเป็นการนำเสนอผลงานในฐานะที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจาก ศธ.กำหนดให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งการนำเสนอผลงานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 11 โรงเรียน ที่ได้นำมาแสดงในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบหรือนวัตกรรมการศึกษาเอกชนเพื่อคนเชียงใหม่ รวมทั้งดำเนินการขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป”

รองเลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สช. ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของ ศธ. ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาเป็นการให้ครูและผู้เรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยมีจุดเน้น คือ การเรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning
จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลขึ้น มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับโรงเรียนอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงที่กำลังพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อมุ่งสู่สมรรถนะของผู้เรียนเช่นกัน

จากนั้น รมช.ศธ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “เส้นทางสู่นวัตกรรมการศึกษาเอกชนเพื่อคนเชียงใหม่” รวมทั้งเป็นประธานมอบโล่และประกาศเกียรติคุณแก่โรงเรียนเอกชนนําร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ 11 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนสวนเด็กสันกำแพง, โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา, โรงเรียนเอื้อวิทยา, โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน, โรงเรียนอนุบาลร่มเกล้า, โรงเรียนบ้านปลาดาว, โรงเรียนพิมานเด็กเชียงใหม่, โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, สหวิทยาการเชียงใหม่ และโรงเรียนอนุบาลสุมาลี
ภายในงานได้มีการเสวนาการเสวนา หัวข้อ “การจัดการศึกษาเอกชน เพื่อคนยุคใหม่” โดยมีรองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์, นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15, นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่, นายณรงค์ศักดิ์ บุญยมาลิก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สช., นายเกรียง ฐิติจําเริญพร ผู้อํานวยการโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ร่วมเสวนา โดยมีนางสาวณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ











อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น