15 สิงหาคม 2565, โรงแรมอัลวาเรซ บุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษา พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Office of Basic Education Commission Quality Award : OBECQA)
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งสะท้อนถึงผลลัพธ์ของการบริหารที่ดีเยี่ยมของโรงเรียนในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล และได้กล่าวถึงการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้สถานศึกษาเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น
นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทางด้านการศึกษาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพของคน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติในทุกช่วงวัย การจัดการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น และมีความเหมาะสมตามความถนัด ความชอบในแต่ช่วงวัย เป็นคนดี คนเก่ง มีวินัย มีทักษะชีวิต มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม มีการเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษากับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมีความสุข
“ฝากถึงผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่าน ในการกลับมามองในบริบทพื้นที่ของท่านที่มีความแตกต่าง เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับโลกในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการที่จะให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษา ไม่เพียงแต่ในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการใช้ชีวิต ฯลฯ โดยเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นคือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักเรียนของเรา”
ทั้งนี้ นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นวัยที่กำลังแสวงหาทางเลือกในอนาคตของตัวเอง โรงเรียนจะต้องจัดหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน เพื่อให้มีโอกาสได้สำรวจความถนัดและความสนใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการเปิดเรียนในหลากหลายสาขาวิชา และการจัดให้ชมรม ตามความสนใจที่หลากหลาย เช่น กีฬา ดนตรี สิ่งแวดล้อม ความถนัดอาชีพ เช่นเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ ครม.ได้อนุมัติจัดตั้งรวม 18 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะให้ทุกโรงเรียนดำเนินการให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ผ่านระบบสภานักเรียน ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการจัดการสัมมนาผู้นำสภานักเรียนทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักเรียนต่อนายกรัฐมนตรี โรงเรียนมัธยมฯ ของเรา มีขนาดที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็กจนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในโรงเรียนขนาดใด ก็อยากให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ตามแนวทาง Active Learning และต้องการให้ สพฐ. ได้วางแผนบูรณาการการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการจัดสรรโอกาสเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 การยกระดับคุณภาพผู้เรียน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการข้ามสถานศึกษาและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ครูเก่ง สนามกีฬา ตลอดจนห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ที่เราได้เริ่มกลับมาเปิดเรียน On-site 100% พบว่า เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของนักเรียน ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จึงขอให้ช่วยกันเอาใจใส่ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์บูลลี่ในโรงเรียน ทั้งในระหว่างนักเรียนกันเองและระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาท และที่สำคัญคือการดูแลเรื่องจิตใจของนักเรียน หากเกิดปัญหากับนักเรียน นอกจากการป้องกันแล้วหากเกิดเหตุการขึ้นผู้บริหารจะต้องเข้าถึงโดยเร็วที่สุด โดยสามารถใช้แอปพลิเคเชัน MOE Safety Center เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งครูและนักเรียน ได้รู้จักกับการเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์มากขึ้น นักเรียนมีความสามารถและสนใจกับการเรียนในรูปแบบการเรียนผ่านการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องหาแนวทางเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ จึงประสบผลสำเร็จ
โดยปัจจัยหลักที่จะถ่ายทอดและนำนโยบายสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ได้ดีที่สุด คือ ผู้บริหารสถานศึกษาได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโรงเรียน ทั้งนี้ ขอฝากท่านผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกท่าน ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายในบริบทของพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรับและส่งต่อลูกหลานให้ได้รับการศึกษา ที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นการรับช่วงต่อจากโรงเรียนระดับประถมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และการส่งต่อนักเรียนไปสู่ระดับอาชีวศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยต่อไป





ใส่ความเห็น