ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580)

18 พฤษภาคม 2565 / มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 – 2544 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดทำและประกาศใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564)  ซึ่งแผนดังกล่าวได้มีการปรับปรุงและติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดยปัจจุบันได้ใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 เป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุของประเทศ และจะสิ้นสุดภายในปี พ.ศ. 2565

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการบูรณาการและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทยและนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม”

วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้มีกรอบและแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสอดรับกับยุทธศาสตร์และแผนแม่บท อันจะก่อให้เกิดการบูรณาการแผนในทุกระดับ และนำไปสู่การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัยของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีบูรณาการ
  • เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เพิ่มพูนศักยภาพของตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะทำให้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและมีหลักประกันที่มั่นคงไปจนบั้นปลายของชีวิต
  • เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก ด้วยการส่งเสริมให้ประชากรที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 – 35 ปีข้างหน้า ตระหนักและเตรียมการให้พร้อมเพื่อให้มีชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ พร้อมที่จะยอมรับและร่วมมือกับผู้สูงอายุในการเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม หรือให้การเกื้อหนุนผู้สูงอายุในยามที่จำเป็น

แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรม ตัวชี้วัดความสำเร็จของมาตรการในรูปของผลลัพธ์หรือผลกระทบโดยมีการกำหนดเป้าหมายในช่วง 5 ปีแรก ตลอดกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนมาตรการตามแผนฯ เพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด
  2. แผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อให้เห็นภาพและทิศทางในระยะยาวของการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและรองรับสังคมสูงวัยของประเทศให้เกิดความต่อเนื่องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.

  • แผนปฏิบัติการย่อยที่ 1 เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ
    ด้านมาตรการส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล) เช่น ส่งเสริมประชากรวัยทำงานให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของตนเอง ส่งเสริมการให้ความรู้และพัฒนาทักษะในการรู้เท่าทันสื่อและใช้สื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น โดยกำหนดสัดส่วนของประชากรอายุ 25 – 59 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนหรือใช้บริการแหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมถึงแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสื่อสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี ร้อยละ 50 และสัดส่วนของประชากรอายุ 25 – 59 ปี ที่รู้เท่าทันสื่อและมีพฤติกรรมการใช้สื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ร้อยละ 50
  • แผนปฏิบัติการย่อยที่ 3 ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
    ด้านมาตรการวางระบบกำลังคนด้านผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในระดับชาติและระดับพื้นที่) โดยมีการกำหนดแผนกำลังคนด้านผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ภายในปี พ.ศ. 2570 และมีหลักสูตรอบรมหรือผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ กำหนดสัดส่วนของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุในทุกระดับที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของโครงการ ร้อยละ 10

นอกจากนี้ ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563 เรื่อง การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งในส่วนของ ศธ. ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กในโรงเรียน” เรียบร้อยแล้ว


บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป
รายละเอียดเพิ่มเติม มติคณะรัฐมนตรี

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑