ปรับหลักสูตรอาชีวะทั้งระบบ สอดคล้องให้ผู้เรียนมีโลกอาชีพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามสถานประกอบการต้องการ

รมว.ศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง” มอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงโลกอาชีพ ทบทวนการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาทั้งระบบ ระดับปวช.-ปวส. ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะสูงสุดตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ เรียนจบหลักสูตรโดยไม่ออกกลางคัน ตั้งเป้าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกของอาชีพ ที่มีอาชีพและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น ศธ. มีความคาดหวังว่านักเรียน นักศึกษาต้องปรับตัวได้ทันกับโลกของอาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งคาดว่าเราต้องอยู่ร่วมกับโรคติดเชื้อโควิด 19 ไปอีกระยะหนึ่ง

จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดการศึกษา ก็ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เรียน สถานศึกษา และประชาชน ว่ามีนักเรียนนักศึกษาออกกลางคันเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุหนึ่ง คือ ความแข็งตัวของหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีคุณภาพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามที่สถานประกอบการ หรือตลาดแรงงานต้องการ

“ดิฉันได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทบทวนเรื่องการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) การจัดการเรียนรู้ การจัดเวลาเรียน การฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพ การฝึกอาชีพ การประเมินผลการเรียนรายวิชา ตลอดจนการฝึกอาชีพในระบบทวิภาคี รวมถึงเรื่องสื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสายวิชาชีพ สามารถจบออกไปอย่างมีคุณภาพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามที่สถานประกอบการ หรือตลาดแรงงานต้องการ และที่สำคัญสามารถเรียนจนจบหลักสูตรโดยไม่ออกจากหลักสูตรกลางคัน ซึ่งการปรับปรุงนี้ควรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทันใช้ในปีการศึกษา 2565 นี้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

1 thoughts on “ปรับหลักสูตรอาชีวะทั้งระบบ สอดคล้องให้ผู้เรียนมีโลกอาชีพ มีสมรรถนะสูงสุดตรงตามสถานประกอบการต้องการ

Add yours

  1. ชัดเจนครับ และควรกระจายอำนาจให้แต่ละชุมชนได้ร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย (ที่ผ่านมาคือทวิภาคี 2ฝ่าย สำเร็จแต่เอ้าทพุทได้จริงกี่%) แต่ละชุมชนร่วมมือกัน จะเห็นความต้องการ บนความพร้อมของทรัพยากร ต้องการและขาดสิ่งใด นั่นคือ การจัดสรรงบประมาณควรเป็นไปตามที่ต้องการ มิใช่จัดโดยส่วนกลาง ที่ไม่เคยคำนึงถึงท้องถิ่นชุมชน นั่นคือได้ผลผลิต ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ การกระจายอำนาจ แล้วมีหน่วยประเมินผลที่ดูจากผลลัพธ์ไม่ใช่รายงาน การตั้งกรอบมาตรฐานจะมีประโยชน์อะไร ถ้าผู้กำหนดไม่มีประสบการณ์

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑