ศธ.จัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจําปี 2564

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจําปี 2564 ภายใต้กรอบแนวคิด “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” รมช.ศธ.”กนกวรรณ วิลาวัลย์” ย้ำนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการปรับระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน “ช่องว่างทางดิจิทัล” ให้เป็น “โอกาสทางดิจิทัล” เพื่อให้เยาวชน-ประชาชนที่ไม่รู้หนังสือ ให้เป็นผู้รู้หนังสือ มีความฉลาดเท่าทันโลก หาโอกาสในวิกฤต สร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นในยุค New Normal พร้อมเตรียมรูปแบบการเรียนรู้ที่ก้าวไปข้างหน้า หลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด 19

(8 กันยายน 2564) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2564 (International Literacy Day 2021) ภายใต้กรอบแนวคิด “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” ผ่านรูปแบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ, นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายกวินทร์เกียรติ นนท์พละ รองเลขาธิการ กพฐ., นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลัก เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงาน กศน.

Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อํานวยการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” เน้นไปที่ความสำคัญของการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะในบริบทของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พบว่าร้อยละ 46 ของเยาวชน และร้อยละ 61 ของผู้ใหญ่ ยังไม่รู้หนังสือ ความไม่เท่าเทียมในการรู้หนังสือนี้ ขยายวงกว้างขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนไม่รู้หนังสือดังกล่าว ซึ่งขาดความเข้าใจและข้อมูลที่จำเป็นต่อชีวิตการพัฒนาศักยภาพ จนกลายเป็นกลุ่มเปราะบางในทุกมิติ

ทักษะทางด้านดิจิทัล ถือเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่การสร้างแรงงานที่มีทักษะสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ตามที่ตลาดต้องการ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงดำเนินต่อไป โดยมีแค่เพียง ร้อยละ 37 ของครัวเรือนในชนบทที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทักษะด้าน ICT ของประเทศในภูมิภาคที่ได้รับการตรวจสอบ มีไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่เรามุ่งหวังจะบรรลุเป้าหมาย 4 ของ SDG (สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต) ในปี ค.ศ.2030 เราต้องเรียกร้องให้ประเทศดังกล่าว มั่นใจว่าจะทำให้กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือบรรลุเป้าหมายในเรื่องทักษะดิจิทัล  ซึ่งจะเป็นการผนวกรวมของความรู้และศักยภาพที่เหนือกว่าการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และมีส่วนร่วมในสังคมได้เต็มศักยภาพ

เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อความก้าวหน้าในการรู้หนังสือของกลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือดังกล่าว และเพื่อลดช่องว่างด้านดิจิทัลในช่วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยยูเนสโกกำลังดำเนินโครงการ “Accelerating Thailand” นำโดย Microsoft ประเทศไทย, สำนักงาน กศน. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เรื่อง ทักษะดิจิทัลเพื่อการมีงานทำ โดยเผยแพร่บนแพลตฟอร์มของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก ตลอดจนการริเริ่มโครงการ “Learning Coin” ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงาน กศน. และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่แม่ฮ่องสอน นครนายก ยะลา และกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งส่งเสริมการรู้หนังสือไทยในกลุ่มเยาวชน และบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งยังช่วยจัดหาทุนการศึกษาที่ได้รับจากความพยายามในการอ่านเพื่อสร้างสมรรถนะด้าน ICT ของผู้เรียน

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้อ่านสารจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยในสังคมฐานความรู้ในโลกยุคดิจิทัล ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นโอกาสและปัจจัยเร่งให้เกิดการพัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้ของผู้คน รวมทั้งทำให้การจัดการเรียนการสอนในแบบเดิมต้องปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนแบบทางไกล เพื่อให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของบางกลุ่มในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจึงเน้นการปรับระบบการศึกษาและการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนช่องว่างทางดิจิทัล ให้เป็น “โอกาสทางดิจิทัล” อันจะช่วยสนับสนุนการรู้หนังสือของเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้หนังสือให้เป็นผู้รู้หนังสือ มีความฉลาดเท่าทันโลก โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการการดำเนินการร่วมกันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ และต่อมาได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดที่เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนในทุกด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ รวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับผลกระทบในด้านการศึกษาได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้หรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ที่เรียกว่า “Digital Divide” ที่เกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่างประชาชนกลุ่มที่มีความพร้อมและกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาสในมิติต่าง ๆ

ในมิติของโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่วางอยู่บนพื้นฐานของการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น (การรู้หนังสือและการพึ่งพาตนเองได้) ย่อมไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป รัฐบาลโดยหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องจึงได้พยายามมองหาโอกาสในวิกฤตเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้น โดยอาศัยการรู้หนังสือที่มีเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตเพื่อการอยู่รอดตามแนววิถีชีวิตใหม่ New Normal และการเรียนรู้ที่มองและก้าวไปข้างหน้าหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด 19

ต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการรู้หนังสือให้กับประชาชน และมีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2564 ในวันนี้ ขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันตามวิถีชีวิตใหม่ เพื่อนำพาสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ ร่วมกันสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นต่อไป”

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขอเป็นกำลังใจให้ชาว กศน. ทุกคนที่อยู่ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลหรือตามเกาะแก่ง ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้คนไทยและคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมีส่วนที่รู้หนังสือมากยิ่งขึ้น การรู้หนังสือไม่ใช่เพียงการอ่านหนังสือออก ยังรวมถึงการเรียนรู้ทุกช่องทาง ไม่ใช่เพียงแค่ภาษาไทยยังรวมถึงภาษาอื่นๆที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการเสริมทักษะและจะทำให้สามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตในทุกด้าน รวมทั้งสุขภาพอนามัยต่างๆ โดยชาว กศน.ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท และอุทิศตนเองทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลงานดีๆมากมาย ทั้งในเรื่องการให้บริการในพื้นที่ชุมชน แม้กระทั่งการให้บริการในครัวเรือนที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ชาว กศน. เรามีหัวใจที่งดงามและไม่เคยท้อและที่สำคัญมีการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของตนเอง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและนำไปเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน และสร้างความศรัทธาจนเป็นที่รักของประชาชนในทุกพื้นที่

อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
ข้อมูล UNESCO กรุงเทพฯ และสำนักงาน กศน.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: