มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 2) อนุมัติการอุดหนุนทางการเงินฯ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพิ่มเติม 3 โรง 3) รายงานประจำปี 2563 ของ สสวท.

เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว รวมทั้งมอบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

เป้าหมายหลัก ให้เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก “เก่ง ดี มีสุข” มีพัฒนาการทุกด้านแบบองค์รวม มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นที่ 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นที่ 12 การพัฒนาการเรียนรู้ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วยวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดย (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ประกอบด้วย

นโยบายด้านเด็กปฐมวัย 3 ด้าน ดังนี้

  1. เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง
  2. การพัฒนาเด็กตามนโยบายข้อ 1 ต้องจัดให้เป็นระบบและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยบูรณาการชัดเจนระหว่างหน่วยงานราชการและที่ไม่ใช่ราชการ ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และระหว่างระดับต่าง ๆ ของการบริหารราชการแผ่นดินจากระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
  3. รัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอแก่การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายข้อ 1

วิสัยทัศน์ เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ

เป้าประสงค์ เด็กปฐมวัยทุกคน ซึ่งหมายถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงเด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างชาติและเด็กที่ไม่ได้มาจากครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

ยุทธศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์/มาตรการที่สำคัญ/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัยตัวชี้วัด: เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ – 6 ปี อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนด้วยความเท่าเทียม มาตรการที่สำคัญ: เช่น สร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จัดให้มีระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และองค์กรเอกชน
2. การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยตัวชี้วัด: พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกครอบครัวมีความรู้ ความพร้อม และทักษะในการเลี้ยงดูเด็กและปกป้องสิทธิทุกด้านของเด็กอย่างถูกต้องเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ มาตรการที่สำคัญ: เช่น ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดหรือสนับสนุนให้มีบริการรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กทารกวัยเตาะแตะในชุมชน/สถานประกอบการ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: รง. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน
3. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัยตัวชี้วัด: มีการพัฒนาระบบการดูแลเด็กแบบองค์รวมเพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งนำไปใช้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มาตรการที่สำคัญ: เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งอย่างเพียงพอ สร้างระบบพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้รับผิดชอบรอง: กสศ. ทุกหน่วยงานที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัด และองค์กรเอกชน
4. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ตัวชี้วัด: มีการบูรณาการ การพัฒนาและวางระบบการใช้ฐานข้อมูลและสารสนเทศที่พัฒนาแล้วไปใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบปกป้องเพื่อมิให้เป็นการละเมิดสิทธิหรือเป็นผลร้ายต่อเด็กและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มท. ศธ. สธ. อปท. และ กสศ. ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงกลาโหม อว. ยธ. รง. อก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) และองค์กรเอกชน
5. การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมายตัวชี้วัด: มีกฎหมาย กฎระเบียบ และมีระบบและกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยและดำเนินการทางคดีเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ตามสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด มาตรการที่สำคัญ: เช่น รวบรวม จัดทำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสากล เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ยธ. ศธ. สธ. สำนักงาน ก.พ. และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: อว. รง. อก. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และองค์กรเอกชน
6. การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ตัวชี้วัด: มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดูแลและส่งเสริมศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านและอย่างทั่วถึง จากการนำเอาความรู้และผลวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาระบบการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมิติต่าง ๆ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. สธ. ศธ. อปท. และกรมประชาสัมพันธ์ ผู้รับผิดชอบรอง: สสส. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน
7. การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลตัวชี้วัด: มีการบูรณาการระบบการบริหารจัดการ และการประเมินติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน มาตรการที่สำคัญ: เช่น พัฒนาระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกลไกการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงบประมาณ และกรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบรอง: องค์กรเอกชน

การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผล ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

  1. การสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงเข้ากับแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การบูรณาการระหว่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 เป็นต้น
  2. การนำแผนสู่การปฏิบัติ เช่น การผลักดันให้มีงบประมาณเชิงบูรณาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
  3. การติดตามและประเมินผล เช่น การติดตามและประเมินผลด้วยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ เป็นต้น
อนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินฯ แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพิ่มเติม 3 โรง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ (กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) สยามบรมราชกุมารี (โครงการตามพระราชดำริฯ) เพิ่มเติม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดาราวิทยา โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม และโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567

เพื่อให้การอุดหนุนด้านอาคารเรียน อาคารประกอบ และสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน โดยตั้งงบประมาณเป็นรายปี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญตามนัยของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

สาระสำคัญ

  1. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2563 รวมจำนวน 16 แห่ง (โรงเรียนทั้ง 16 แห่ง ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายขึ้นมา ชื่อว่า “เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้การอุดหนุนด้านอาคารเรียน อาคารประกอบและการจัดหาสื่ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้เหมาะสมและมีคุณภาพเช่นเดียวกับสถานศึกษาอื่น ๆ
  2. ในครั้งนี้ ศธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สช.) จึงได้เสนอขออนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ เพิ่มเติม จำนวน 3 แห่ง โดยมีประมาณการรายจ่ายในการดำเนินโครงการตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2567 สรุปได้ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ.รวมงบประมาณทั้งสิ้น
256525662567
3,930,0006,175,0004,230,00014,335,000

รายชื่อและสถานที่ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ จำนวน 19 แห่ง

ลำดับรายชื่อสถานที่
1โรงเรียนจรรยาอิสลามตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
2โรงเรียนคลองหินอิสลามวิทยา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา)ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
3โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
4โรงเรียนอิบตีดาวิทยาตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
5โรงเรียนนิรันดรวิทยาตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
6โรงเรียนต้นตันหยงตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
7โรงเรียนบ้านกูวิงตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
8โรงเรียนอัตเตาฟีกียะห์อิสลามมียะห์ตำบลซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
9โรงเรียนส่งเสริมอิสลามตำบลปลักหนู อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
10โรงเรียนศาสน์อิสลามตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
11โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
12โรงเรียนธรรมพิทยาคารตำบลลุโบะยิไร อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
13โรงเรียนบากงวิทยาตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
14สถาบันศึกษาปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุสสาลามตำบลตาแซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
15โรงเรียนอิสลามบูรพาตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
16โรงเรียนธรรมคีรีวิทยาตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
17โรงเรียนดาราวิทยาตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
18โรงเรียนนราวิทย์อิสลามตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
19โรงเรียนสมานมิตรวิทยาตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

หมายเหตุ : ลำดับที่ 17 – 19 เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ ศธ. ขออนุมัติเพิ่มในครั้งนี้

รับทราบรายงานประจำปี 2563 ของ สสวท.

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา กระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งสามารถนำไปศึกษาต่อเป็นนักนวัตกรตามแนวทาง KOSEN ได้การจัดทำบทเรียนออนไลน์รองรับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การวิจัย วัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประเทศและระดับนานาชาติ และการวิจัยติดตามการใช้หลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และพัฒนาเกณฑ์การจัดทำสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น
  2. การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านเครือข่าย สสวท. ให้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อขยายการให้บริการหลักสูตรสื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. การพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนโครงการพระราชดำริ การขับเคลื่อนสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี การส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และการยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนคุณภาพ SMT ตามมาตรฐาน สสวท.) เป็นต้น
  3. การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบ ตามแนวทาง สสวท. ได้พัฒนากลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค และได้วิจัยและพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โครงการ Project 14 เพื่อพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ (Learning Management System) เช่น Project 14 เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือ Project 14 Plus ครูจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Project14+ by IPST และ Project 14 DLTV เรียนรู้ทางไกลผ่านโทรทัศน์ทาง DLTV รวมทั้งพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติ เป็นต้น
  4. การเร่งรัด พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ  การผลิตและพัฒนานักวิจัยคุณภาพชั้นนำของประเทศ การคัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยสอบคัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2562
  5. การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้ทันสมัย เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะผ่านหลักสูตรและกิจกรรมต่าง ๆ และเสริมสร้างความผูกพันภายในองค์กร การพัฒนาการบริหารจัดการ สสวท. ทุกมิติการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขยายขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรและการบริการในรูปแบบดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล 21 ระบบ การพัฒนาและขยายการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก และสร้างความตระหนักรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook การจัดเทศกาลภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 15 และจัดทำนิตยสาร สสวท. ทั้งฉบับสิ่งพิมพ์และฉบับออนไลน์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://emagazine.ipst.ac.th

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑