นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 09.30 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม
สาระสำคัญ ได้แก่ การรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นโรคติดต่อสำคัญที่มีการแพร่ระบาดในฤดูกาลนี้ โดยที่ประชุมได้หารือด้านการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาด ดังนี้
- โรคโควิด 19 สถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น รวมถึงในประเทศไทยที่พบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ในกลุ่มวัยทำงานและครอบครัว ทั้งนี้ มีการเตรียมความพร้อมโดยการให้จังหวัดประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมทุกด้าน สำหรับแผนการให้วัคซีนโควิด 19 ในระยะต่อไป กำหนดให้เป็นการฉีดวันซีนโควิด 19 ประจำปี โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง แนะนำให้ฉีดก่อนฤดูฝนที่คาดว่าจะเป็นช่วงที่ระบาดมาก โดยใม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าไหร่ ซึ่งจะรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ประจำปีโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อโรค (กลุ่ม 608 เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้มีอาชีพสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก หรือผู้อยู่ในสถานที่แออัด และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ อสม.) โดยจะรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- โรคไข้เลือดออก ฤดูฝนเป็นฤดูกาลที่มีการแพร่ระบาดอย่างมาก และมีผู้เสียชีวิต จึงเสนอให้ยกระดับมาตรการควบคุมไข้เลือดออก โดยให้นำเข้าคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และดำเนินการสื่อสารเชิงรุก เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (NS1 rapid test) และดำเนินมาตรการควบคุมโรค 3-3-1 ได้ตามมาตรฐานอย่างเข้มข้น (3-3-1 คือ หลังโรงพยาบาลพบผู้ป่วย ให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคกำชับให้ อสม.ลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที ลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น) โดยขอความร่วมมือทุกกระทรวงจัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย
- โรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะในสถานศึกษาและเรือนจำ ในสถานศึกษามี Cluster การแพร่ระบาดจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 5 – 14 ปี ซึ่งเป็นระดับชั้นประถมศึกษาที่พบอัตราการป่วยเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ น้ำใช้ไม่สะอาด น้ำดื่ม น้ำแข็งบริโภคปนเปื้อน สุขอนามัยของผู้สัมผัสอาหาร การจัดการอาหารและการสุขาภิบาลอาหารและสถานที่ โดยมีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ข้อ 2 ควรพิจารณาทบทวนแนวทางดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลักดันให้มีการกำกับติดตาม มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอาหารเป็นพิษอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการให้ความรู้แก่นักเรียนในการป้องกันโรคติดต่อ ผ่านหลักสูตรการศึกษา การรณรงค์การล้างมือในโรงเรียน และผู้ประกอบการ ซึ่งที่ประชุมรับทราบและมอบฝ่ายเลขานุการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป




ใส่ความเห็น