แนวหน้า – เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือกับนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมประชุมหารือด้วย
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เนื่องจากภายหลังเทศกาลสงกรานต์ มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากมีการระบาดเกิดขึ้นอีก สธ.จึงมอบให้ สพฐ. และ สอศ. ประสานกับสาธารณสุขจังหวัด และให้สถานศึกษาหารือกับผู้ปกครองในวันประชุมปฐมนิเทศก่อนเปิดเทอม ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจและขอความยินยอมจากผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน ส่วนจะฉีดวัคซีนให้กับเด็กในช่วงชั้นใดบ้างนั้น สธ.จะดูว่าเด็กแต่ละคนเคยฉีดวัคซีนมากี่เข็มแล้ว ให้เป็นดุลยพินิจของสาธารณสุขจังหวัด พิจารณาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าหากมีการระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นอีกครั้ง จะมีมาตรการในการดูแลครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนอย่างไร ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า จะทราบแนวทางชัดเจน รวมถึงว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนหรือไม่อย่างไร
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. กำลังเตรียมนำแนวปฏิบัติที่เคยใช้ได้ผลดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ซึ่ง สอศ.จะคอยติดตามประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุข หากโควิด 19 มีการระบาดเกิดขึ้นอีก จะสั่งการให้วิทยาลัยในสังกัด สอศ.นำแนวปฏิบัติเดิมมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ในช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ต่อไป
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “XBB คือสายพันธุ์ลูกผสม X คือ Cross ส่วน B คือ (BA.xไม่ว่าจะเป็นBA.2หรือ BA.5) ดังนั้น XBB คือ BA มาแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ป่วยติด BA2 สายพันธุ์พร้อมกันในเวลาเดียวกันทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นมาได้
เมื่อก่อนตอนมีลูกผสมระหว่าง เดลต้า กับ โอมิครอน เราก็ตั้งชื่อไปว่า เดลต้าครอน ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เดียวกัน แต่ เดลต้าครอนน่ากลัวแต่ชื่อ เพราะผสมกันเป็นไวรัสลูกผสมแล้ว ไม่ fit ไปต่อสู้สายพันธุ์พ่อแม่ไม่ได้ ท้ายที่สุดเดลต้าครอนที่เคยขึ้นหน้าหนึ่งก็หายไปจากความสนใจ
XBB นับว่าเป็นไวรัสลูกผสมที่ไปต่อได้ และชนะสายพันธุ์พ่อแม่ได้ เป็นการสร้างส่วนผสมที่ลงตัว ประเด็นที่ผมอ่านตารางนี้แล้วรู้สึกแปลกๆ คือ ในตารางระบุว่า XBB.1.5 กับ XBB.1.16 เป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอนที่ต่างกัน โดย XBB.1.5 มาจาก BJ.1 x BM.1.1.1 ขณะที่ XBB.1.16 มาจาก BA.2.10.1 x BA.2.75 ซึ่งเหมือนเป็นสองเหตุการณ์ที่ทำให้ไวรัส XBB แต่ละชนิดอุบัติขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งไม่น่าจะใช่ครับ
ประเด็นที่ทำให้การสื่อสารคาดเคลื่อนคือ ชื่อของไวรัสครับ เพราะ BJ.1 มีอีกชื่อหนึ่งว่า BA.2.10.1.1 และ BM.1.1.1 มีอีกชื่อหนึ่งว่า BA.2.75.3.1.1.1 เนื่องจากชื่อยาว เค้าเลยเรียกให้สั้นลง พอเรียกให้สั้นลง ก็จะเกิดความเข้าใจผิดพลาดข้างต้น ความเป็นจริงคือ ทั้ง XBB.1.5 และ XBB.1.16 มาจากบรรพบุรุษเดียวกันคือ XBB (ชื่อเล่น Gryphon ) หลังจากนั้น Gryphon เปลี่ยนเพิ่มเป็น XBB.1 (Hippogryph คือ ลูกของ Gryphon)
ส่วน XBB.1.5มีชื่อว่า Kraken (เป็นลูกของ Hippogryph) แต่ XBB.1.16 หรือ Arcturus เปลียนตัวเองมาจาก Hippogryph เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นลูกของ Kraken ถ้าดูตามนี้จะเห็นว่า XBB.xxx ทุกตัวเป็นลูกหลานของ Gryphon ทั้งหมด ต้นตระกูลที่เกิดจากการสร้างไวรัสลูกผสมครั้งนั้น และ ยังไม่มีการสร้างได้แบบนี้อีกตั้งแต่นั้นมา ล่าสุด เพิ่งพบ XBB.1 ไปผสมกับ BA.275 เป็นสายพันธุ์ชื่อว่า XBL แต่ก็ดูเหมือนไม่ fit เท่า XBB.1 เดิม แต่ XBL ก็ได้ชื่อว่า the first recombinant of a recombinant!!”
ใส่ความเห็น