เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลฯ ชั้น 12 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กทม. – ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เยี่ยมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลฯ ณ อาคารสถาบัน ชั้น 12 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยมี ผอ.ภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สศศ. ผอ.ชูศักดิ์ ศิริเชียงพิณ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง คณะผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบงานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลและคณะ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมห้องเรียนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
โอกาสนี้ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต้อนรับจากนั้น รศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู ประธานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้นำเสนอประวัติความเป็นมาและผลการดำเนินงานในภาพรวมทั่วประเทศของโครงการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนางสาวสรัณยา ขำเจริญ ครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ รายงานผลการดำเนินงานของศูนย์การเรียนฯ ภายใต้การกำกับดูแล ศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง
การให้บริการเด็กที่รับบริการภายในศูนย์เทคโนโลยีฯ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย
- มูลนิธิสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนด้านการคิดค้นสื่อ และวิทยากรในการอบรมครูเพื่อใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน
- กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดหาสถานที่จัดตั้งและงบประมาณ
- กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนครูและงบประมาณ
โดยมีการแบ่งกลุ่มการเรียนการสอนเป็น 2 แบบ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนแบบในหอผู้ป่วย (ข้างเตียง) และการจัดการเรียนการสอนในห้องศูนย์การเรียนฯ
ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) จำนวน 8 ศูนย์การเรียน มีดังนี้
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีรูปแบบการให้บริการแบบบูรณาการร่วมมือกับนักสหวิชาชีพ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานด้านการศึกษาให้กับเด็กป่วยในโรงพยาบาล พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่าย เช่น สถาบันการศึกษาทางไกล ความร่วมมือกับเอกชน (CSR) หรือมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กป่วย เป็นต้น โดยเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษสามารถเข้าถึงการรับบริการด้านการศึกษาจากครูการศึกษาพิเศษที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบริการ มีการให้การปรึกษากับผู้ปกครอง และยังมีเครือข่ายคลินิก เช่น คลินิกกระตุ้นพัฒนาการ คลินิกจิตเวช คลินิกพันธุกรรม และคลินิกโรคสมอง ร่วมสนับสนุนบริการด้านสุขภาพระหว่างที่เด็กพักรักษาตัวด้วย
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กป่วยกลุ่มโรคเลือด โรคปอดเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ให้คำปรึกษากับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกศูนย์การเรียนฯ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่าย คลินิก Chronic lung disease clinic, DM disease clinic ,คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รวมถึงการให้บริการร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เช่น Psychosocial rounds ประชุมทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็กอย่างองค์รวม, Scan team ประชุมทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็กถูกทารุณกรรม/ถูกทอดทิ้ง
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เด็กป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง รองลงมาคือผู้ป่วยโรคไต โดยการเรียนการสอนมีจุดมุ่งเน้น คือ ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย อาทิ การจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์เมื่อเด็กกลับบ้านเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ซึ่งมีการทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียนต้นสังกัด ศูนย์การศึกษาพิเศษ ทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลศิริราช จัดการเรียนการสอนแก่เด็กป่วยที่เป็นผู้ป่วยไข้ในและผู้ป่วยนอก (เด็กจิตเวช) โดยมีการทำงานประสานกันร่วมกับนักสหวิชาชีพ มีการติดต่อประสานงานการศึกษาร่วมกับคุณครู ผู้อำนวยการ โรงเรียน จัดโครงการฝึกอาชีพร่วมกับ กศน. เช่น การถักหมวกไหมพรม พวงกุญแจ ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่าย ศูนย์กุมารบริรักษ์ คลินิกกล้ามเนื้ออ่อนแรง มูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ เป็นต้น
- โรงพยาบาลเลิดสิน จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเด็กป่วยกลุ่มโรคมะเร็งกระดูกและโรคทั่วไป เด็กจะรับบริการเรียนรู้ที่เตียงผู้ป่วย มีการประเมิน ก่อนเรียน และหลังเรียน มีการติดต่อทางโรงเรียนที่นักเรียนอยู่ เพื่อนำแบบฝึกหัดที่ใช้ในโรงเรียนมาสอนในแต่ระดับชั้น และส่งเสริมกิจกรรมที่ผู้เรียนสนใจ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่าย กศน.
- โรงพยาบาลราชวิถี จัดการเรียนการสอนให้เด็กที่ป่วยกลุ่มโรคหัวใจโดยเฉพาะทาง ประกอบด้วยเด็กที่ถูกส่งตัวเข้ามารักษาทั้งในรูปแบบของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก มีการประสานงานกับแพทย์และพยาบาล เพื่อมารับบริการทางด้านการศึกษา พร้อมทั้งทำงานร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา เพื่อประสานงานในการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมต่าง ๆ มูลนิธิโรคหัวใจเด็ก ประสานงานเรื่องการสนับสนุนสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน
- โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดการเรียนการสอนให้เด็กป่วยกลุ่มโรคมะเร็งและโรคเลือด มีการสอนออนไลน์สม่ำเสมอ (activity of week via online) มีการสอนวิชาศิลปะผ่านระบบออนไลน์ มีการฝึกอาชีพ เช่น การทำอาหาร เบเกอรี่ เป็นต้น โดยมีการทำงานร่วมกับ วิทยากรจากหน่วยโภชนาการโรงพยาบาลรามาธิบดี นักดนตรีบำบัด ครูศิลปะจากศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง
- สถาบันประสาทวิทยา มีการตรวจประเมินสภาวะสุขภาพจิตและอารมณ์ ประเมินพัฒนาการ ตรวจวัดไอคิวเด็ก พร้อมทั้งทำงานร่วมกับ คลินิกกุมารประสาทวิทยา ทีมนักสหวิชาชีพของศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง
จากนั้น ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับทีมพยาบาล เยี่ยม พูดคุย ซักถาม ให้กำลังใจผู้ป่วยเด็กที่พักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมเด็กโต (ส7B) พร้อมทั้งผู้ปกครอง ณ อาคารสถาบันฯ รวมถึงเยี่ยมชมห้องศูนย์การเรียนฯ ที่เป็นสถานที่ปฏิบัติงานจริงและดูการจัดการเรียนการสอนของครู
“ชื่นชมความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายในพื้นที่ในการจัดการศึกษา และให้บริการทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง และผลสำเร็จที่ชัดเจนคือพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา การสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในศูนย์การเรียนฯ ก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนการสอน ทั้งนี้ สศศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาพร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้เรียนที่มารับบริการ และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม มีการนำสื่อการเรียนรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล และคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าใจเนื้อได้อย่างขึ้นและเรียนรู้ได้อย่างมีสุข”
ในส่วนของ สพฐ. ได้เสนอว่า อยากให้วางระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้บริการทางการศึกษากับผู้เรียนที่มารับบริการในศูนย์การเรียนฯ และให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างน้อย ร้อยละ 90 และควรมีการพัฒนาบุคลากร เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์การเรียนฯ รวมทั้งแต่ละศูนย์ฯ ควรจัดทำแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นแบบอย่างให้ศูนย์ฯ อื่น นำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย สศศ. พร้อมประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย (หลักสูตรวิชาชีพครู) ในการจัดหลักสูตรสำหรับครูผู้สอนในสังกัด สศศ. โดยบางส่วนเป็นการเรียนทฤษฎีในมหาวิทยาลัย และบางส่วนเป็นการฝึกประสบการณ์จากสถานที่จริง









ใส่ความเห็น