“คุณหญิงกัลยา” ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระหว่าง TDRI-หอการค้าไทย-กสศ.

21 เมษายน 2566 / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระหว่างนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้แทนลงนาม ณ ชั้น 13 อาคารเอส.พี.พญาไท

รมช.ศธ. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการทดลองการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ตั้งแต่หลักสูตร การทดสอบและประเมินผล สื่อ-วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้น Active Learning (การเรียนรู้แบบนักเรียนมีส่วนร่วมลงมือทำ) และ Problem-based Learning (การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน) ตลอดจนการบริหารจัดการแบบใหม่ในระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา เพิ่มความเป็นอิสระและกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้แก่สถานศึกษาแต่ละจังหวัดตามบริบทที่แตกต่างกัน

ในระยะเริ่มต้น กระทรวงศึกษาธิการได้จัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องขึ้น 8 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และขยายเพิ่มขึ้นอีก 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน อุบลราชธานี ตราด สระแก้ว จันทบุรี กระบี่ สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกรุงเทพฯ รวมเป็น 19 จังหวัดในปัจจุบัน และจะขยายผลไปทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ดำเนินการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ได้เหมือนกับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า แทนที่หลักสูตรแกนกลางที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 อีกทั้งสามารถใช้เงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลในการซื้อสื่อการเรียนการสอนนอกบัญชีของ ศธ. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ รวมทั้งสามารถสรรหาผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นผู้นำทางวิชาการของโรงเรียนได้ด้วยการทาบทาม ตามหลักเกณฑ์พิเศษของ ก.ค.ศ. ตลอดจนสามารถปฏิเสธโครงการต่าง ๆ ที่เป็นภาระและไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนตามหลักสูตร

ปัจจุบัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดำเนินการโดยใช้งบประมาณของรัฐเป็นหลัก โดยจัดสรรผ่าน ศธ. เพิ่มเติมจากการจัดสรรงบประมาณตามปกติ ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างก้าวกระโดด หวังว่าทั้ง 3 หน่วยงาน รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวไกลและก้าวทันการศึกษาโลกต่อไป

“การศึกษาคือหัวใจ คือความมั่นคงของชีวิต ถ้าเด็กและเยาวชนมีการศึกษามีความรู้ดีก็จะสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อครอบครัวดีจะส่งผลโดยตรงให้ประเทศชาติมีความมั่นคงแข็งแรง แล้วเราจะก้าวผ่านทุกวิกฤต และยกระดับพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ ด้วยทรัพยากรบุคคลจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: