สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568 และการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างปี 2567 – 2568 (การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนฯ) รวมทั้งเห็นชอบร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน (Declaration on the Digital Transformation of Education Systems In ASEAN) (ร่างปฏิญญาอาเซียนฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว
สาระสำคัญ
1. ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง มีวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสามและสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา โดยมีประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาและให้การรับรอง/เห็นชอบ ดังนี้
- การเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนฯ ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเชียนจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยประเทศเจ้าภาพจะเวียนตามลำดับตัวอักษร [ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพในปี 2565 และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (ประเทศสิงคโปร์) จะเป็นเจ้าภาพในปี 2569 สืบเนื่องจากประเทศสิงคโปร์และประเทศเวียดนามได้ขอสลับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเชียน]
- การรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนฯ กระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์การยูนิเซฟ ร่วมกันจัดประชุม UNICEF – ASEAN Conference on Digital Transformation of the Education System throughout ASEAN เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยมีผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว คือ แถลงการณ์ร่วม Joint Statement Conference on Digital Transformation of the Education System throughout ASEAN ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้ดิจิทัลที่ปลอดภัย โอกาส ทักษะ ความสามารถทางดิจิทัล และพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดและต่อยอดได้ ในประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียนในปี 2564 ได้เสนอเป็นหน่วยงานหลักในการยกร่างปฏิญญาอาเซียนฯ โดยยึดใจความสำคัญจากแถลงการณ์ร่วมข้างต้น และได้มีการปรับแก้จากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการประชุมรัฐนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ประธานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน (ประเทศเวียดนาม) ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนฯ (ในครั้งนี้ ศธ. เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนฯ ก่อนมีหนังสือแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป) และหลังจากร่างปฏิญญาอาเซียนฯ ได้ผ่านการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ร่างปฏิญญาอาเซียนฯ จะนำเข้าสู่การรับรองของที่ประชุมคณะมนตรีการรับรองเอกสารระดับคณะมนตรี ASCC ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะมนตรี ASCC หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะต้องรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนฉบับนี้ก่อนที่จะเสนอต่อผู้นำอาเซียนในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 พิจารณาและร่วมรับรองต่อไป
2. ร่างปฏิญญาอาเซียนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- การให้ความสำคัญ ยืนยัน ยอมรับ และระลึกถึง ได้แก่ (1) วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2568 คือ ชุมชนที่มีความยืดหยุ่นพร้อมศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเปราะบางทางสังคม เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ (2) ระดับความแตกต่างของการศึกษาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบดิจิทัลในประเทศสมาชิกอาเซียน และการจัดการกับความท้าทายในด้านความเหลือมล้ำทางดิจิทัล (3) เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้กับประชากรชายขอบ และเด็กและเยาวชนตกหล่น รวมทั้งช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนและพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลด้านการศึกษา (4) องค์ประกอบหลักของระบบการศึกษา ได้แก่ หลักสูตร การประเมิน ทรัพยากรการเรียนรู้ ทักษะของครู และการจัดการข้อมูล รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน
- สิ่งที่ตกลงจะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ (1) ใช้หลักการจัดการเรียนรู้ทางดิจิทัลที่เหมาะสมและมีการประเมินผลตลอดทาง เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนโดยไม่เพิ่มภาระให้กับครู สนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิต การทำงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (2) ผู้ฝึกอบรมและนักการศึกษา (ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการศึกษา) ทุกคน ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง (3) พัฒนาและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ (4) พัฒนาและแบ่งปันพื้นที่เก็บข้อมูลทรัพยากรการเรียน การวางแผนการเรียนการสอน การประเมินผล กิจกรรมในชั้นเรียน (5) ใช้หลักการสอนและการประเมินผลแบบดิจิทัลในการเรียนการสอน (6) พัฒนานโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และส่งเสริมการวางแผนระดมทุนระยะยาวในโรงเรียนทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลทางการศึกษา โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มชายขอบ (7) พัฒนาและรับรองนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบบริหารจัดการข้อมูลทั่วประเทศ (การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม) และในระดับอาเซียน (8) ศึกษาระบบนิเวศที่เอื้อต่อความร่วมมือที่ยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงที่รับผิดชอบด้านการศึกษา การคลัง เทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน (9) พัฒนานโยบายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล บันทึกและเข้ารหัสเพื่อคุ้มครองข้อมูล การใช้ข้อมูลการศึกษาที่โปร่งใสทั้งในระดับโรงเรียนและระดับบริหาร และทรัพย์สินทางปัญญาของทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งเสริมสร้างให้เด็กมีความรู้ในการใช้งานอย่างปลอดภัย (10) ลดการเกิดสภาพแวดล้อมเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษา และค้นหาความเสี่ยงที่จะเกิดต่อเด็ก (11) ส่งเสริมกลไกและนวัตกรรมใหม่ (12) ขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตผ่านโครงการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และสนับสนุนหุ้นส่วนภาคประชาสังคม (13) จัดให้มีการเรียนรู้ดิจิทัลแบบออฟไลน์ (ออนไซต์) ในโรงเรียนที่ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (14) พิจารณาและวางแผนงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านการศึกษาให้มีความโปร่งใส เหมาะสม และตรวจสอบได้ (15) ปรับปรุงระบบการติดตามและประเมินผลของสารสนเทศภายใต้การดำเนินงานด้านการศึกษา การสื่อสารและการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของสังคมครอบครัวและเยาวชน
- ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ร่างปฏิญญาอาเซียนฯ ให้ความสำคัญทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรอบกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงเครื่องมือ แพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้ฝึกอบรม นักการศึกษา นักเรียนและประชาชนไทยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ใส่ความเห็น