17 สิงหาคม 2565, จังหวัดพังงา / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7 “The 7th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project” ณ โรงแรมเกรซแลนด์ เขาหลัก บีชรีสอร์ต อำเภอตะกั่วป่า โดยมีนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพังงา วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี และตัวแทนจากประเทศบังคลาเทศ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน เข้าร่วมงาน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College : SBTC) มีหน้าที่ผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี ซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักรของอาชีวศึกษา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innopreneur) เป็นผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นวิศวกรสังคม (Social Engineer)
โดยเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) และสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM สร้าง Citizen Science ขยายโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง ยกระดับการเรียนในสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล เน้นการจัดการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง ประยุกต์ใช้ในงานอาชีพและชีวิตประจำวัน
กิจกรรมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเยาวชนทั้ง 5 ประเทศ ตลอดจนผสานความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างกันในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ความสำเร็จไม่ได้เกิดเฉพาะกับตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสำเร็จในระดับภูมิภาคและระดับประเทศอีกด้วย
“วันนี้รู้สึกประทับใจต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนที่นำวัสดุใกล้ตัว หรือวัสดุใช้แล้ว มาสร้างนวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมารักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งความรู้และทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่างานครั้งนี้จะสร้างคุณค่ามหาศาลเนื่องจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน ยิ่งมีเครือข่ายมากก็ยิ่งมีองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้เราต้องคิดแบบก้าวกระโดดแล้ว จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันขยายผลให้มากที่สุดเพื่อสร้างกำลังคนสู่ VUCA World ให้ได้”
นายนิติ นาชติ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ในฐานะคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นการส่งเสริมและสร้างเวทีการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิชาการกับนักเรียน/นักศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 5 แห่ง และนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศได้นำความรู้ต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคพังงา เป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมสร้างทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากการเรียนการสอนของวิทยาลัยต่าง ๆ และนานาประเทศ โดยมีการนำเสนอผลงานทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ มีนักเรียน นักศึกษา และครูเข้าร่วม จำนวน 360 คน ส่งผลงานนำเสนอรวมทั้งสิ้น 94 ผลงาน ประกอบด้วยการนำเสนอภาค Oral Presentation รูปแบบออนไลน์ จำนวน 10 ผลงาน นำเสนอภาค Oral Presentation ออนไซต์ จำนวน 36 ผลงาน และภาค Poster Presentation จำนวน 48 ผลงาน จาก สถาบันการศึกษา 13 สถานศึกษา.

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น