3 สิงหาคม 2565, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา/ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเติมเต็ม Learning Loss เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 2
รมว.ศธ. กล่าวว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราได้รับผลกระทบเผชิญความยากลำบากในการดำเนินชีวิตจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งส่งผลต่อการเรียนการสอน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ติดตามสถานการณ์โดยตลอด และออกมาตรการสำคัญเพื่อเยียวยาช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา อาทิ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน การให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนักเรียนรายละ 2,000 บาท รวมถึงปัจจุบันที่ยังคงเข้มงวดในมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ที่สถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในรูปแบบ On-site ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับ สพป.อยุธยา เขต 2 ได้ดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ของ ศธ. เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ที่สามารถดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 กลับเข้าสู่ระบบได้ 100% และเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) โดยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เป็นแบบอย่างให้หลายพื้นที่ผ่านวิกฤตในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน








จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนคอตัน อ.บางซ้าย สังกัด สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบ DLTV มีรูปแบบการเติมเต็มแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) เพราะในช่วงที่เด็กไม่ได้มาเรียน On-Site ทาง สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ได้แก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยจัดตั้งสถานีทีวีเพื่อการศึกษา AYA2 CHANNEL เพื่อถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยจัดทำคลิปการสอนของครูที่เป็นครูต้นแบบในวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน มีการกำหนดตารางสอนผ่านสถานีทีวีดิจิทัลดังกล่าวที่ชัดเจน ต่อยอดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยสร้างตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ครูใช้สอนออนไลน์
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ทดลองใช้ตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะโดยชุมชนเป็นฐาน และเยี่ยมชมผลงานนักเรียนที่เกิดจากการจัดกิจกรรม Active Learning









อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / วิดีโอ
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ใส่ความเห็น