26 กรกฎาคม 2565, โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ / นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดและเยี่ยมชมกิจกรรมโครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยมีนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) นายปราโมทย์ ธรรมสโรช อุปนายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ตลอดจนครูและบุคลากรผู้สอนฯ ให้การต้อนรับและเข้าร่วม
รมช.ศธ. กล่าวว่า วันนี้มีความเต็มใจและยินดียิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีปิดโครงการนี้ ทุกท่านในที่นี้ถือเป็นผู้เสียสละ มีจิตสาธารณะ อุทิศตัวเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ บริการ สวัสดิการ และประโยชน์จากสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนความช่วยเหลืออื่นใดด้านการศึกษา ให้กับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ การมีงานทำ และสามารถดูแลตนเองให้อยู่ในสังคมได้
“การจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาพิเศษ ให้กับบุคคลกลุ่มนี้จะเกิดผลได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงบุคลากรครูผู้สอนที่จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเจตนารมณ์บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนารูปแบบการศึกษานอกระบบสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และทางสติปัญญา ยังผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงให้พวกเขาเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”
นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ประชาชนทั่วไปสละเวลาเปิดใจรับและทำความเข้าใจว่าเด็กออทิสติก (Autistic Child) คืออะไร เด็กออทิสติก คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาวะอาการออทิสติก เกิดได้กับเด็กทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม และทุกสภาพครอบครัวส่วนสาเหตุที่แน่นอนยังไม่สามารถอธิบายได้ แต่ทางการแพทย์เชื่อว่า ภาวะอาการออทิสติก อาจเกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติจากการผสมผสานการรับรู้ความรู้สึก และการเคลื่อนไหว จึงทำให้มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ
เด็กออทิสติกแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออกและมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน แนวทางการเลือกวิธีการสอนจึงย่อมแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กออทิสติกแต่ละคน ซึ่งครูต้องเลือกวิธีการสอนที่ เหมาะและส่งเสริมให้เด็กออทิสติกเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงได้ซึ่งวิธีการสอนตรง (Direct Instruction) เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง โดยวิธีการสอน จะเน้นกิจกรรมที่ชัดเจนเป็นการฝึกปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอโดยเรียงลำดับขั้นตอน การสอนตามความยากง่ายอย่างเป็นระบบ และมีครูคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งครูจะคอยให้คำแนะนำแก้ไขเมื่อนักเรียนทำไม่ถูกต้อง และเสริมแรงพร้อมให้กำลังใจทันทีเมื่อนักเรียนปฏิบัติได้ถูกต้อง
โดยแบ่งระดับความต้องการ การได้รับการช่วยเหลือของบุคคล เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- TIER 1 : บุคคลที่มีภาวะออทิสซึม มีทักษะการสื่อสารและทักษะสังคมในระดับสื่อสารได้ แต่ยังต้องการได้รับการสนับสนุนบ้างเล็กน้อย
- TIER 2 : บุคคลฯ มีข้อจำกัดในการใช้ภาษาและท่าทางเพื่อการสื่อสารระดับหนึ่ง และยังคงต้องการการสนับสนุนอย่างปานกลาง
- TIER 3 : บุคคลฯ ที่มีข้อจำกัดในด้านภาษาและการสื่อสารพฤติกรรม ทักษะการช่วยเหลือตนเองรวมทั้งทักษะด้านต่าง ๆ และยังต้องการการสนับสนุนอย่างมาก









อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ
ใส่ความเห็น